
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) อยู่ที่ 158.44 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 0.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยน้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 12.3% และการใช้น้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 6.7% ขณะที่กลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น 0.8% การใช้ LPG ลดลง 2.3% น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการลดลง 1.5% และ NGV ลดลง 16.1%
การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.85 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 0.8% โดยน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 19.22 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากมีส่วนต่างราคาสูงกว่าแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 0.37 บาท/ลิตร (ราคาเฉลี่ยในช่วง 5 เดือน)

โดยในช่วงเดียวกันของปีก่อนแก๊สโซฮอล์ 95 มีส่วนต่างราคาสูงกว่าแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 1.39 บาท/ลิตร ทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้แก๊สโซฮอล์ 95 สูงขึ้นจากปีก่อน ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 ลดลงมาอยู่ที่ 6.69 ล้านลิตร/วัน แก๊สโซฮอล์ อี20 ลดลงมาอยู่ที่ 5.15 ล้านลิตร/วัน เบนซินลดลงมาอยู่ที่ 0.39 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ อี85 ลดลงมาอยู่ที่ 0.06 ล้านลิตร/วัน
การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเริ่มเห็นสัญญาณของการชะลอตัวลงโดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ การขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า (BEV HEV และ PHEV) มีสัดส่วน 6.3% ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน1 รวมถึงการใช้งานระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีการขยายตัวของผู้โดยสารอย่างต่อเนื่องคิดเป็น 3.6% เทียบกับปีก่อน
การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการ เฉลี่ยอยู่ที่ 68.22 ล้านลิตร/วัน ลดลง 1.5% ประกอบด้วย ดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ลดลงมาอยู่ที่ 68.20 ล้านลิตร/วัน สอดคล้องกับดัชนีการขนส่งสินค้า (Shipment Index) เฉลี่ยเดือนมกราคม-เมษายนหดตัวลง 1.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากปริมาณฝนรวมทั้งประเทศสูงกว่าค่าปกติ โดยในเดือนพฤษภาคมสูงกว่าค่าปกติถึง 52.03% รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าและความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ แม้การส่งออกยังคงขยายตัวจากการเร่งส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาเนื่องจากแรงกดดันจากมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย
สำหรับดีเซลหมุนเร็ว บี20 ลดลงมาอยู่ที่ 0.03 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ดีเซลพื้นฐานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.21 ล้านลิตร/วัน ทั้งนี้ภาพรวมปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลอยู่ที่ 70.44 ล้านลิตร/วัน
- น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์โตต่อเนื่อง
การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 18.06 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 12.3% ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือนทั้งคนไทยและต่างชาติขยายตัว 2.05% รวมไปถึงการขยายตัวของบริการขนส่งสินค้าทางอากาศ ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยสะสม 5 เดือนแรกของปี 2568 มีจำนวน 14.36 ล้านคน ลดลง 2.7% ซึ่งเป็นการลดลงของนักท่องเที่ยวชาวเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (โดยเฉพาะจีน) ที่ลดลง 22.86% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากปัจจัยด้านความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจภายในประเทศจากนโยบายการค้าโลก
การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.60 ล้านกก./วัน ลดลง 2.3% ผลจากภาคปิโตรเคมีเป็นสำคัญลดลงมาอยู่ที่ 7.33 ล้านกก./วัน และภาคขนส่งลดลงมาอยู่ที่ 2.30 ล้านกก./วัน ขณะที่การใช้ในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.90 ล้านกก./วัน และภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.07 ล้านกก./วัน
การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 2.44 ล้านกก./วัน ลดลง 16.1% โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับจำนวนรถจดทะเบียน NGV สะสมที่ลดลง และจำนวนสถานีบริการ NGV ที่มีแนวโน้มปิดตัวลง
อย่างไรก็ตาม ปตท.ยังคงช่วยเหลือผ่านโครงการบัตรสิทธิประโยชน์ให้กับกลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะ ขณะที่ราคาขายปลีก NGV สำหรับรถทั่วไปปรับเพิ่มขึ้น 0.10 บาท/กก. อยู่ที่ 18.80 บาท/กก. เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยอยู่ที่ 1,060,825 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 1.4% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 83,004 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 1,031,520 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นะ 4.6% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 81,254 ล้านบาท/เดือน สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 29,305 บาร์เรล/วัน ลดลง 51.3% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 1,750 ล้านบาท/เดือน
ขณะที่การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยอยู่ที่ 147,535 บาร์เรล/วัน ลดลง 4.9% เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 12,416 ล้านบาท/เดือน