(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยส่งออก ก.พ.พลิกโต 5.91% จากน้ำมัน-ทองคำ-อาวุธ แต่สินค้าเกษตร-อุตฯหดตัวถ้วนหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 21, 2019 13:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทย ระบุว่า การส่งออก ของไทยในเดือน ก.พ.62 มีมูลค่า 21,553.7 ล้านเหรียญสหรัฐ กลับมาขยายตัว 5.91% จากที่ติดลบ 5.65% ในเดือน ม.ค.62 ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 17,519.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 10.03% ขณะที่ดุลการค้าเกินดุล 4,034.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ภาพรวมในช่วง 2 เดือนแรกของปี 62 การส่งออก มีมูลค่า 40,547.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.16% ส่วนนำเข้า มีมูลค่า 40,545.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.20% ดุลการค้าเกินดุล 2 ล้านเหรียญสหรัฐ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า การส่งออกไทยในเดือน ก.พ.62 กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ที่ 5.9% ที่มูลค่า 21,553 ล้านดอลลาร์ แต่หากหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ มูลค่าการส่งออกจะหดตัวลง 4.9%

ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าสำคัญของไทยยังมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากภาวะการค้าโลก และอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าชะลอตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังคงยืดเยื้อทำให้ชะลอคำสั่งซื้อ และปัจจัยภายในของบางประเภท โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันกดดันให้ราคาส่งออกลดลงจากปีก่อน ประกอบกับเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าส่งผลให้คำสั่งซื้อชะลอตัว

สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 7.5% หากหักอาวุธจะหดตัว 3.9% โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัว 9.5% รวมถึงกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่กลับมาหดตัวต่อเนื่องในรอบกว่า 2 ปี จากปัจจัยราคาเป็นสำคัญ รวมถึงการส่งออกรถยนต์ชะลอตัวในหลายตลาด เนื่องจากหลายประเทศเริ่มมีการควบคุมสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้บริโภคสนใจรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง กระทบกำลังซื้อประเทศคู่ค้า

ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูป หดดตัว 0.9% โดยข้าว, มันสำปะหลัง และยางพารา หดตัวจากปัจจัยด้านปริมาณเป็นสำคัญ เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกชะลอตัวตามทิศทางการค้าโลก ส่งผลให้สต็อกของคู่ค้ายังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลให้คำสั่งซื้อชะลอตัวในระยะสั้น อย่างไรก็ดี กลุ่มอาหารยังขยายตัวสูงต่อเนื่อง เช่น อาหาร และผักผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป โดยเฉพาะไก่ ที่จีนเปิดตลาดให้นำเข้าจากไทย เนื่องจากการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ

"ตอนนี้จีนชะลอคำสั่งซื้อข้าวจากไทย เพราะมี supply มาก ทำให้ช่วงนี้ไม่มี order จากจีน แต่เรายังมี order จากตะวันออกกลาง และแอฟริกาเข้ามา ซึ่งน่าจะทำให้ในช่วง 2-3 เดือนจากนี้ สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยยังไปได้ดี ขณะที่ราคาข้าวในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีปัจจัยที่น่าห่วงคือ บาทแข็ง ซึ่งการ quote ราคาจะทำให้ข้าวไทยดูว่าแพงกว่าประเทศคู่แข่ง นอกจากนี้ สินค้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกตัดสิทธิ GSP ก็อาจจะเข้ามาแข่งขันในตลาดมากขึ้น" น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ

สำหรับการส่งออกไทยไปยังตลาดสำคัญในเดือน ก.พ.นี้ ส่วนใหญ่ชะลอตัวต่อเนื่อง ตามกระแสการค้าโลก โดยเฉพาะประเทศที่เป็นห่วงโซ่การผลิตจีน ได้แก่ ฮ่องกง, เกาหลีใต้, ไต้หวัน ที่ยังได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีการนำเข้าของสหรัฐและจีน บรรยากาศการค้าที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ทำให้การส่งออกของโลกและไทยได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราว เนื่องจากส่งคืนอาวุธยุทโธปกรณ์ ส่งผลให้ขยายตัวสูงถึง 97.3% แต่หากหักสินค้ากลุ่มดังกล่าวแล้ว การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ที่ 5% โดยเฉพาะในกลุ่มที่สหรัฐฯ มีมาตรการทางการค้ากับจีน เช่น เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์และส่วนประกอบ

"เรื่องสงครามการค้า หาก 2 ประเทศสามารถหาข้อยุติได้ในเดือนเม.ย.-พ.ค. ก็จะทำให้ mood ดีขึ้น การส่งออกไทย และประเทศต่างๆ ก็จะดีขึ้นด้วย เพราะถ้าหา solution ได้เร็วก็จะส่งผลในเชิงบวกต่อทุกประเทศ" ผู้อำนวยการ สนค.กล่าว

พร้อมระบุว่า แม้การส่งออกไทยในภาพรวมยังดูทรงตัว แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ชี้ให้เห็นว่าการส่งออกจะค่อยเริ่มฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากประเทศไทยสามารถปรับตัวได้ดี โดยมีการกระจายการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อทดแทนตลาดที่มีข้อจำกัดต่างๆ ทำให้มีความเชื่อมั่นต่อศักยภาพการส่งออกของไทยในระยะต่อไป

แต่อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ไม่อาจจะมองข้ามได้ คือ เงินบาทแข็งค่า แต่ทั้งนี้เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมาตรการดูแลค่าเงินบาทได้อย่างดี ขณะเดียวกันผู้ส่งออกไทยเองจำเป็นให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพราะนอกเหนือจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ยากแก่การควบคุมแล้ว ขณะนี้ยังมีปัจจัยในประเทศคือเรื่องการเมืองที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ซึ่งอาจยังมีความผันผวนที่ต้องป้องกันความเสี่ยงในจุดนี้ไว้ด้วย

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในปี 62 คาดว่าจะมีความท้าทายมากขึ้น จากความผันผวนและปัจจัยเสี่ยงภายนอก โดยเฉพาะประเด็นข้อพิพาททางการค้า รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญมีแนวโน้มชะลอตัว ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากอุปทานและสต็อกตลาดโลกอยู่ในระดับสูง โดยกระทรวงพาณิชย์จะติดตามอย่างใกล้ชิด รวมถึงสร้างโอกาสจากสงครามการค้าโดยการเร่งหาตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเข้ามาทดแทน

สำหรับเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 8% นั้น ในสัปดาห์หน้า น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ จะได้หารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เพื่อประเมินสถานการณ์ร่วมกันอีกครั้ง หลังจากที่หลายหน่วยงานส่วนใหญ่ได้ประเมินเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้ไว้ว่าจะอยู่ในระดับไม่เกิน 5%

ผู้อำนวยการ สนค. ยังได้ฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ว่าต้องการให้เน้นการให้ความสำคัญกับเรื่องการเจรจาการค้ากับต่างประเทศ เพราะมีส่วนสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยเป็นอย่างมาก ท่ามกลางที่ไทยต้องเผชิญกับภาวะเงินบาทแข็งค่า และประเทศคู่แข่งได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันกับสินค้าไทย

"ขอฝากไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ว่าอยากให้ช่วยสานต่อ และเร่งเดินหน้าในเรื่องการเจรจาการค้า เพราะเมื่อมีการเลือกตั้ง และสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้แล้ว ก็อยากเห็นการเร่งเจรจาการค้ากับต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้หลายประเทศเขาพร้อมที่จะเจรจากับไทยทันทีอยู่แล้ว" น.ส.พิมพ์ชนกระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ