(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค มี.ค.ปรับลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน กังวลการเมืองหลังเลือกตั้ง-ภาวะศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 4, 2019 15:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน มี.ค.62 อยู่ที่ 80.6 จาก 82.0 ในเดือน ก.พ.62

ค่าดัชนีปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าและกำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นขึ้นมากนัก ประกอบกับ เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าและการที่อังกฤษจะออกจากสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป (Brexit)

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 67.6 จาก 69.0 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 75.8 จาก 77.1 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 98.4 จาก 99.9 ในเดือน ก.พ.62

โดยมีปัจจัยลบจาก 1.คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 62 เหลือ 3.8% จากเดิมที่ประเมินที่ 4.0% โดยการส่งออกปรับลดมาอยู่ที่ 3.0% จากเดิมที่ 3.8% จากการขยายตัวที่ชะลอลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและผลของมาตรการกีดกัดทางการค้า 2.ความวิตกกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลและสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคตอาจมีความไม่แน่นอนและขาดเสถียรภาพ

3.SET Index ในเดือน มี.ค.62 ปรับตัวลดลง 14.38 จุด จาก 1,653.48 จุด ณ สิ้นเดือน ก.พ.62 เป็น 1,638.65 จุด ณ สิ้นเดือน มี.ค.62

4.ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.ความกังวลต่อสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในเขตพื้นที่ กทม.และปริมาณฑล และในบางจงหัดของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน

6.ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำส่งผลให้รายได้ของเกษตรโดยส่วนใหญ่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในต่างจังหวัดขยายตัวไม่มากนัก

7.ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและยังกระจุกตัวและผู้บริโภคยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมถึงผู้บริโภคยังรู้สึกว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น

8.ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสงครามการค้าในระดับโลกโดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต แม้ว่าสหรัฐฯ กับจีนจะอยู่ในช่วงเจรจายุติปัญหาสงครามการค้า

ขณะที่ปัจจัยบวกที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน มี.ค.62 ได้แก่ 1.การประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 และที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้จัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.62 ส่งผลให้บรรยากาศในการหาเสียงคึกคักทั่วประเทศ

2.คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% โดยประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงทจากผลกระทบจากต่างประเทศทั้งสงครามการค้าและภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย และเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ต้องติดตามความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด

3.การส่งออกของไทยเดือนก.พ. 62 มีมูลค่า 21,553.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 5.91% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 17,519.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 10.03% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 4,034.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ช่วง 2 เดือนแรกของปี 62 ส่งออกได้รวม 40,547.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 0.16% และมีการนำเข้ารวม 1,315,442.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.17% ส่งผลให้เกินดุลการค้ารวม 2.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

4.ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกันจากเดือนที่ผ่านมา 5.ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนเริ่มคลี่คลายลงหลังจากที่สหรัฐฯและจีนได้มีการเจรจาการค้ากัน 2 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา หลังจากที่ได้ยุตสงครามการค้าเป็นการชั่วคราว 90 วัน 6.นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นหลังจากประเทศไทยยกเว้นค่าธรรมเนียม VISA on Arrival

7.พืชผลทางการเกษตรบางรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสินค้าปศุสัตว์ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรส่วนใหญ่ยังเห็นว่าราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ 8.เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังมีแนวโน้มเป็นขาลงจนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และมีนโยบายในการบริหารประเทศอย่างชัดเจน เนื่องจากไม่มีปัจจัยบวกมากระตุ้น

โดยมองว่า ในช่วงครึ่งปีแรกรัฐบาลชุดปัจจุบันมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันนโยบายหรือเร่งขับเคลื่อนโครงการต่างๆที่อยู่ในแผนงานเพื่อพยุงเศรษฐกิจ จึงได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยไว้ที่ 3.5-3.8% จากเดิมคาดไว้ที่ 4% โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรก จะขยายตัวอยู่ที่ 3.3-3.5% ส่วนครึ่งปีหลังหากการเมืองมีเสถียรภาพ ทุกฝ่ายยอมรับกติกาการเลือกตั้ง คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.7-4% และคาดการณ์การส่งออกขยายตัว 4% เท่าเดิม

อย่างไรก็ตาม จะมีการทบทวนและปรับประมาณการเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการในช่วงกลางเดือน พ.ค.62 หลังสถานการณ์ Brexit และสงครามการค้าจะชัดเจนมากขึ้นในเดือน เม.ย.

ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พ.ค.การจะทำให้มองเห็นภาพเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ชัดเจนขึ้น

"ถ้าการได้รัฐบาลอยู่ในกรอบช่วงไตรมาสที่ 3 เป็นกรอบที่ไม่เสียอาการทางเศรษฐกิจ เพราะจุดแรกคาดว่าจะได้นายกรัฐมนตรีเดือน มิถุนายนหรือกรกฎาคม จัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในเดือนสิงหาคมหรือกันยายน ก็ยังทำให้เศรษฐกิจถูกวางกรอบไว้ตามแนวเดิม ตอนนั้นก็จะไปพึ่งพาบรรยากาศเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ ถ้า Trade War และ Brexit ไม่มีปัญหา และนักท่องเที่ยวเข้ามา 40 ล้านคน ฐานของเศรษฐกิจยังมีโอกาสโตได้ 3.8%"นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นระหว่างนี้มองว่าปัจจัยที่จะพยุงเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้คือบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่คาดว่าน่าจะมีเงินสะพัดราวหลายหมื่นล้านบาท และงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งน่าจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ และทุกคนเคารพกติกาและเคลื่อนไหวหรือแสดงออกทางการเมืองอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ เช่น ชุมนุมประท้วงในพื้นที่จำกัดและมีระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งเป็นบรรยากาศทั่วไปของทั้งโลกที่เกิดขึ้น ซึ่งมองว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์ต่อคนไทยทั้งประเทศ เพราะท้ายสุดเศรษฐกิจจะดีขึ้นได้เร็วและจะเริ่มกระจายตัว แต่ถ้าการเมืองนอกสภาไม่นิ่ง มีความวุ่นวายจะทำให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุน คนจะชะลอการบริโภค นักท่องเที่ยวจะชะลอการเดินทาง ซึ่งตอนนี้เศรษฐกิจไทยไม่พร้อมรับปัจจัยเสี่ยง เพราะประชาชนจะเดือดร้อนมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ