ZoomIn: "ฝุ่นร้าย-ภัยแล้ง"หากปล่อยไว้ยืดเยื้อพ่นพิษซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยจากค่าเสียโอกาส

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 17, 2019 10:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปัญหาฝุ่นละออง และ ปัญหาภัยแล้งทีเกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นปัญหาใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เกิดขึ้นมาต่อเนื่อง ส่วนจะส่งผลกระทบมากหรือน้อยนั้นขึ้นกับความรุนแรงและระยะเวลา

ข้อมูลของ AirVisual.com ได้เผยรายงานการจัดอันดับคุณภาพอากาศโลกปี 61 ปรากฎว่าประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 23 ของโลกที่มีความเข้มข้นเฉลี่ยรายปีของ PM 2.5 มากที่สุด หากเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยมีค่าคุณภาพอากาศที่แย่เป็นอันดับ 3 รองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม โดยมี 10 จังหวัดในไทยที่ติดอยู่ในการจัดอันดับ 15 เมืองที่มีมลพิษ PM 2.5 สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่เมื่อปลายเดือน ม.ค.62 ที่เพิ่งผ่านมา กรุงเทพฯ ติดอันดับสามมาแล้ว และเมื่อปลายเดือน ก.พ.62 เชียงใหม่ครองแชมป์เป็นอันดับที่หนึ่ง

ทั้งนี้ หลายฝ่ายมีความกังวลต่อสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในเขตพื้นที่ กทม.และปริมาณฑล และในบางจังหวัดของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน กระทบกับการท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายหน้าไปบางส่วนเป็นเพราะกังวลปัญหาสุขภาพจากฝุ่นมลพิษ วงการธุรกิจท่องเที่ยวจึงออกหน้ามากระตุ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขด่วนเพราะการท่องเที่ยวเวลานี้ถือเป็นเครื่องยนต์เดียวในการพยุงเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังมีปัจจัยภายนอกและปัจจัยทางการเมืองในประเทศรุมเร้าส่งผลต่อการเจริญเติบโต ถ้านักท่องเที่ยวยังมาหดหายเพราะฝุ่นพิษจะยิ่งฉุดให้เศรษฐกิจให้ดิ่งลงมากขึ้น

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยใช้สมมติฐานกรณีว่าจะเกิดขึ้นประมาณ 2 เดือน พบว่ามีมูลค่าผลกระทบประมาณ 6,100 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.ภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อหน้ากากอนามัย 600 ล้านบาท โดยคิดจาก 25% ของประชากรในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล (3 ล้านคน จากทั้งหมด 15 ล้านคน) จะต้องเสียเงินซื้อหน้ากากอนามัย ราคาเฉลี่ยอันละ 20 บาท 4 อัน/เดือน

2. ภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ และระบบทางเดินหายใจ 800 ล้านบาท โดยคิดจาก 40% ของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ และระบบทางเดินหายใจในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล (8 แสนคน จากทั้งหมด 2 ล้านคน) ต้องเข้าโรงพยาบาลอย่างน้อย 1 ครั้ง และเสียค่ารักษาเฉลี่ย 1,000 บาท/ครั้ง

3. การสูญเสียเงินตราต่างประเทศ 240 ล้านบาท โดยคิดจากหน้ากากอนามัยประมาณ 40% (โดยเฉพาะรุ่น N95) จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

4. การสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว 4,062 ล้านบาท โดยคิดจาก 2.5% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ราว 162,500 คน/เดือน จากทั้งหมด 6.5 ล้านคน/เดือน มีการใช้จ่ายเฉลี่ย 12,500 บาท/คน ที่ได้เลี่ยงการเดินทางมาในพื้นที่

5. การสูญเสียงบประมาณของรัฐ 400 ล้านบาท โดยคิดจากสมมติฐานว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะเกิดขึ้น 2 เดือน ซึ่งจะมีการใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท/เดือน

ขณะที่ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองจากค่าเสียโอกาสในประเด็นสุขภาพ ด้านการท่องเที่ยว รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ที่สำคัญ คิดเป็นเม็ดเงินอย่างน้อย 14,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยมีสาเหตุหลักมาจากกรอบเวลาที่นานขึ้น และการเพิ่มเติมค่าเสียโอกาสบางรายการ โดยกรอบเวลาที่ใช้ในการคำนวณคือ จากเดิมที่ประเมินไว้ราวๆ 1 เดือน ปรับเป็นตั้งแต่ช่วงปลายปี 61 ถึงสิ้นเดือน ก.พ.62 (หรือประมาณ 65 วัน)

ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งมีแนวโน้มรุนแรงและยาวนานกว่าที่ผ่านมา รวมถึงมีโอกาสขยายวงมากกว่าที่คาด โดยปีนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนเร็วกว่าปกติ โดยปีนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.62 ถึงกลางเดือน พ.ค.62 โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าอุณหภูมิช่วงฤดูร้อนปีนี้จะอยู่ที่ 42-43 องศาเซลเซียส ซึ่งภัยแล้งส่งผลกระทบต่อปริมาณพืชผลทางการเกษตรลดลง อีกทั้งยังเป็นการฉุดกำลังซื้อครัวเรือนภาคเกษตร การมีงานทำ รวมทั้งปัญหาในภาคธุรกิจ SMEs

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลกระทบเบื้องต้นของสถานการณ์ภัยแล้งในปี 62 ที่ส่งผลกระทบต่อความเสียหายของข้าวนาปรังและอ้อยเป็นหลัก อาจทำให้เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 15,300 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.1% ของ GDP แต่ทั้งนี้ เป็นการประเมินในเบื้องต้น ซึ่งหากรวมผลเสียหายของพืชเกษตรอื่น อาจทำให้มีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าที่ประเมินไว้

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาเดือน เม.ย. ที่จะเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มรูปแบบ เกษตรกรอาจต้องมีการวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำอย่างเหมาะสม หรือเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยทดแทนเพื่อเป็นรายได้เสริม นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังต้องระมัดระวังในการใช้น้ำ ตลอดจนต้องมีการเตรียมพร้อม/วางแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำดังกล่าวได้อย่างเป็นระบบ ก็อาจช่วยลดผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร ซึ่งอาจส่งผลต่อธุรกิจที่ต้องอาศัยกำลังซื้อของกลุ่มเกษตรกรเป็นหลัก ท่ามกลางภาวะที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงให้ภาพที่ไม่ดีนัก

แผนการจัดสรรน้ำทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้ง ปี 61/62 ทั่วประเทศจากแผนจำนวน 23,100 ล้าน ลบ.ม.ล่าสุดพบว่าการจัดสรรน้ำตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.61 ถึงปัจจุบันจำนวน 20,157 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 88% ของแผนการจัดสรรน้ำ คงเหลือ 2,943 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 12% โดยลุ่มน้ำสำคัญๆ ที่มีการจัดสรรน้ำมากกว่าแผน ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จัดสรรน้ำแล้ว 7,771 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 106% จากแผนการจัดสรรน้ำ 7,300 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่ลุ่มน้ำชี-มูล และลุ่มน้ำแม่กลองยังเป็นไปตามแผน โดยลุ่มน้ำชี – มูล จัดสรรแล้ว 1,055 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 97% ของแผนการจัดสรรน้ำ 1,083 ล้าน ลบ.ม. และลุ่มน้ำแม่กลอง จัดสรรแล้ว 4,452 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 78% ของแผนการจัดสรรน้ำ 5,700 ล้าน ลบ.ม.

สอดล้องภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญกับปัญหาภัยแล้งอย่างมาก ทั้งภาคท่องเที่ยวที่ความสะดวกสบาย"น้ำพร้อมไฟพร้อม" คือสิ่งสำคัญในการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่มีแหล่งน้ำ น้ำตก ลำธาร แม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง ถ้าน้ำเหือดแห้งนักท่องเที่ยวอาจผิดหวัง

มีงานวิจัยบ่งชี้ว่าอนาคตการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมและภาคท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ภาคเกษตรกรรมจะลดลงประมาณ 3-5% ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า จังหวัดในพื้นที่ท่องเที่ยวและชายทะเลนั้นมีการใช้น้ำมีการใช้น้ำมากถึง 350-500 ลิตรต่อคนต่อวัน ซึ่งถ้าสถานการณ์ภัยแล้งกระทบทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยว สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 20,000-30,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากจะบรรเทาผลกระทบเศรษฐกิจจากปัญหาทั้ง 2 สถานการณ์ ภาครัฐควรเร่งดำเนินนโยบายแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อลดความเดือดร้อนประชาชน ทั้งการบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการสินค้าเกษตรในการวางแผนการผลิตให้อุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตรเกิดความสมดุลกัน การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย

ขณะที่ภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) มีข้อเสนอให้ภาครัฐร่วมมือพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในแหล่งท่องเที่ยว เพื่อช่วยลดมลพิษ และสนับสนุนการประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว, สนับสนุนภาคประชาชนและผู้ประกอบการในการดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น


แท็ก PM 2.5   ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ