ครม.ไฟเขียวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินตามแนวทางกม.หลักประกันทางธุรกิจ ตามที่ ก.พ.ร.เสนอ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 17, 2019 13:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ตามตัวชี้วัดการพัฒนาการได้รับสินเชื่อ (Getting Credit) ของการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก (Ease of Doing Business) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ แล้วมีมติดังนี้

1. ให้กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงฐานข้อมูลการจดทะเบียนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันเข้าด้วยกัน โดยใช้ระบบที่เหมาะสม เพื่อให้ฐานข้อมูลทะเบียนทรัพย์สินมีความครบถ้วน ทันสมัย และสามารถสืบค้นได้ ณ ที่เดียว รวมทั้งให้รับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอุตสาหกรรม ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

2. ให้กระทรวงการคลัง (สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) กระทรวงยุติธรรม (กรมบังคับคดี) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ดำเนินการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับหลักประกันทางธุรกิจทั้งระบบ เพื่อพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับหลักประกันของประเทศไทย ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป โดยให้ดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยเคร่งครัด เพื่อให้กฎหมายเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของเรื่อง สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอรายงานว่า

1. ในการประชุมเพื่อรายงานผลการดำเนินการตามแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติให้เร่งรัดการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับหลักประกันทางธุรกิจ โดยให้สำนักงาน ก.พ.ร. ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป อันจะส่งผลดีต่อการจัดอันดับของประเทศไทยในรายงาน Doing Business ของธนาคารโลก และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

2. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมบังคับคดี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สมาคมธนาคารไทย สมาคมลีสซิ่งไทย สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย และธนาคารโลกประจำประเทศไทยเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการเร่งรัดการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับหลักประกันทางธุรกิจ โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้

2.1 สืบเนื่องจากสิทธิในหลักประกันตามระบบกฎหมายไทยในปัจจุบันเป็นไปตามกฎหมายหลายฉบับ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ. 2514 พระราชบัญญัติการจำนองเรือและบุริมสิทธิทางทะเล พ.ศ. 2527 พระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เป็นต้น ธนาคารโลกจึงเสนอให้ประเทศไทยปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันให้อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน ซึ่งผู้แทนธนาคารโลกประจำประเทศไทยชี้แจงว่า หากประเทศไทยสามารถดำเนินการตามข้อแนะนำของธนาคารโลกได้ ก็จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ธนาคารโลกมิได้ประสงค์ที่จะแทรกแซงกิจการภายในประเทศไทย และตระหนักดีว่าการเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ เพราะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อทุกภาคส่วน และต้องดำเนินการด้วยความละเอียดรอบคอบ

2.2 ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า การพัฒนาระบบกฎหมายเกี่ยวกับหลักประกันของไทยเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่โดยที่มีผลกระทบมากจึงต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบไปพร้อม ๆ กับการสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องแก่สังคม อย่างไรก็ดี หากมิได้มีการปรับปรุงระบบหลักประกันทางธุรกิจตามข้อแนะนำของธนาคารโลก การอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจก็จะเป็นไปได้ยาก และจะส่งผลกระทบต่อความยากง่ายในการประกอบธุรกิจและการแข่งขันของประเทศโดยรวม ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นควรดำเนินการ 2 ประเด็นควบคู่กันไปเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้

ประเด็นที่ 1 เป็นการดำเนินการระยะสั้น (ภายใต้กรอบกฎหมายปัจจุบัน)

ปัจจุบันการตรวจสอบสิทธิในหลักประกันเป็นไปได้ยาก เนื่องจากระบบของแต่ละหน่วยงานไม่เชื่อมโยงกัน ดังนั้น หากสามารถเชื่อมโยงการตรวจสอบสิทธิในหลักประกันได้ การมีกฎหมายหลายฉบับก็อาจไม่เป็นปัญหา ที่ประชุมจึงเห็นควรให้หน่วยงานที่มีระบบจดทะเบียนทรัพย์สิน [ได้แก่ พณ. กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และ กระทรวงคมนาคม (คค.)] ซึ่งก่อให้เกิดสิทธิในหลักประกันของสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท (การจำนอง ลีสซิ่ง/เช่าซื้อ การนำบัญชีลูกหนี้ไปเป็นหลักประกันการชำระหนี้ และการขายแบบหน่วงกรรมสิทธิ์1) ร่วมกันเชื่อมโยงฐานข้อมูลการจดทะเบียนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันเข้าด้วยกัน โดยอาจใช้ระบบ Blockchain2 หรือระบบอื่นใดที่เหมาะสม เพื่อให้ฐานข้อมูลทะเบียนทรัพย์สินมีความครบถ้วน ทันสมัย และสามารถสืบค้นได้ ณ ที่เดียว ทั้งนี้ เห็นสมควรมอบหมายให้ กค. (สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) และ สพร. เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวและกำหนดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

ประเด็นที่ 2 เป็นการดำเนินการระยะกลาง (ภายใน 3 ปี)

ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมบังคับคดี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และภาคเอกชน ดำเนินการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับหลักประกันทางธุรกิจทั้งระบบ เพื่อพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับหลักประกันของประเทศไทยให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป โดยดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยเคร่งครัด เพื่อให้กฎหมายเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ การมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการปรับปรุงเกี่ยวกับระบบหลักประกันทางธุรกิจของประเทศไทยข้างต้นจะมีผลต่อการประเมินเพื่อจัดอันดับความยาก – ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลกในรอบต่อไป (Ease of Doing Business 2021) การดำเนินการดังกล่าวจึงต้องมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 – 30 เมษายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ