"สมคิด"ห่วงศก.สัญญาณชะลอตัว สั่งก.อุตฯ หามาตรการจูงใจกระตุ้นเอกชนลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 22, 2019 15:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมติดตามความคืบหน้าการดำเนินนโยบายตามที่ได้สั่งการไว้ พร้อมระบุว่า ค่อนข้างเป็นห่วงในช่วงที่ยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งทุกครั้งเมื่อมีการเลือกตั้งเงินจะสะพัดมากแต่มาครั้งนี้แปลกเงินไม่สะพัด โดย 2 เดือนมานี้พบว่าเศรษฐกิจนิ่งเพื่อรอดูความชัดเจน การจัดตั้งรัฐบาลถ้ายาวถึงครึ่งปีอะไรจะเกิดขึ้น

"อะไรที่ทำได้ก็เดินหน้าทำไปเลยไม่ต้องรอ เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในช่วงการเปลี่ยนผ่าน พบว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยเกิดการชะลอตัว และเข้าสู่สภาวะที่ทุกอย่างหยุดนิ่งด้วยกันหมด ทำให้ต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อได้...ไม่ใช่ว่าไม่รู้ว่าสมคิดจะกลับมาไหมแล้วอยู่นิ่ง อันนี้ผมขออย่าหยุดนะงานทุกอย่างต้องเร่งเดินหน้าไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจลำบาก"รองนายกฯ กล่าว

รวมทั้งต้องการให้สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SME) และผู้ประกอบการใหม่ (Start Up) ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ด้วยการไปคิดมาตรการจูงใจให้เอกชนไทยปรับเปลี่ยนการผลิตแบบเดิมที่ใช้เครื่องจักรในการผลิต ให้พัฒนาการใช้เครื่องจักรที่มี AI รวมทั้งใช้ Big DATA พร้อมให้จัดทำเป็นมาตรการแบบครบวงจร เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องเร่งจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรมให้ได้ภายในเดือน พ.ค. นี้และการวางระบบต่างๆ ให้แล้วเสร็จก่อนมีรัฐบาลใหม่เข้ามา ทั้งนี้หากสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จะทำให้ไทยเกิดสตาร์ทอัพใหม่ๆ เข้ามาลงทุน ซึ่งจะมีการใช้นวัตกรรมในการผลิตของธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่ง Start Up 1 ราย ทำให้เกิดการจ้างงานอย่างน้อย 10 คน

พร้อมกันนี้กระทรวงอุตสาหกรรมต้องจัดทำมาตรการที่จะจูงใจหรือบังคับให้เอกชนปรับเปลี่ยนการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กับภาคการผลิตเพื่อเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรมไปสู่ 4.0 โดยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมต้องไประดมสมองกับเอกชนหากรัฐบาลจะต้องสนับสนุนเพิ่มเติมอย่างไรก็ให้ระบุมาและให้ประกาศเป็นมาตรการที่ชัดเจน

ขณะเดียวกันให้เตรียมพร้อม บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด ที่จะทำหน้าที่พัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและธุรกิจสตาร์ทอัพ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งควรจะสรุปที่ตั้งและให้มีคณะผู้บริหารที่ชัดเจนภายในพ.ค.นี้ เพื่อพร้อมขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2563

สำหรับบทบาทของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ต้องเตรียมพร้อมรองรับการเข้ามาลงทุนของทุกภาคอุตสาหกรรมที่ต้องทันกับยุค 4.0 และทันกับนิคมฯของเอกชนที่ก้าวหน้าไปมาก ขณะเดียวกันของให้เร่งพิจารณาเจรจากับกลุ่มผู้ประมูลท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ให้จบโดยเร็วเป็นโครงการแรกๆ และโครงการที่เหลือเช่น รถไฟความเร็วสูง และแหลมฉบังเฟส 3 เองก็ควรจะแล้วเสร็จภายในพ.ค.

นอกจากนี้เรื่องหลักที่ต้องการให้เร่งจัดการคือปัญหาฝุ่นและควันเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านฝุ่นควันโดยเฉพาะกับจังหวัดในภาคเหนือ อาทิ เชียงใหม่และเชียงราย เนื่องจากเป็นจังหวัดหลักในการท่องเที่ยว หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จะกระทบกับการท่องเที่ยว จนทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป และส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวเสียหาย

นายสมคิด ยังกล่าวถึงการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมผ่าน ITC แบบครบวงจร จากที่เคยให้แนวทางการทำงานด้านอุตสาหกรรมเกษตรไว้ แต่ยังไม่มีใครรับเป็นเจ้าภาพ เพราะจะว่าเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ก็ไม่ใช่ จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมเลยก็ไม่ใช่ ทำให้ยังไม่มีใครมีหน้าที่ดูแลอย่างแท้จริง จึงอยากฝากให้กระทรวงอุตฯช่วยรับเรื่องนี้ไว้ในการดูแล ต้องช่วยกันผลักดันให้เกษตรกรหันมาใช้ระบบทำการเกษตรแบบ 4.0 ให้มากขึ้น ให้ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการผลิตเพื่อสู่ไทยแลนด์ 4.0

ด้านนางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบว่า เตรียมนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้หมดไปภายใน 3 ปี นำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนเมษายนนี้เพื่อให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบให้ทันฤดูการผลิตปี 2562/63 (พ.ย.-ธ.ค.62) ทั้งในส่วนของมาตรการทางกฎหมายในการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ที่กำหนดว่าฤดูการผลิตปี 2562/63 ให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 30% ต่อวัน ส่วนฤดูการผลิตปี 2563/64 ให้รับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 20% ต่อวัน และฤดูการผลิตปี 2564/65 จะลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเหลือเพียง 0-5% ต่อวัน แต่มาตรการดังกล่าวก็ยังติดปัญหาในเรื่องแรงงานและเครื่องจักรในการเก็บอ้อยไม่เพียงพอในปัจจุบัน จึงจะเสนอมาตรการสนับสนุนภาครัฐในการจัดหารถตัดอ้อยและแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เป้าหมายเพื่อจัดหารถตัดอ้อยเพิ่มขึ้น 4 พันคันในปี 2565 จากผู้ผลิตรถตัดอ้อยไทยและนำเข้าจากต่างประเทศ โดยปัจจุบันที่รถตัดอ้อยมีเพียง 1,802 คัน

ในส่วนของแหล่งเงินทุนที่จะใช้ในโครงการนี้ จะเป็นโครงการส่งเสริมสินเชื่อกู้ยืมให้กับเกษตรกร ปีละ 2 พันล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี ผู้กู้จ่ายในอัตราดอกเบี้ย 1% เพื่อจูงใจให้เกษตรกรร่วมมือหันมาใช้รถตัดอ้อยและเครื่องจักร แทนการเผาอ้อยแล้วเก็บเกี่ยวแบบเดิมและยังเป็นการแก้ไขปัญหาแบบไม่ผลักภาระให้กับเกษตรกร

"ปกติการให้กู้ของรัฐ รัฐจะชดเชยดอกเบี้ยไม่เกิน 3% แต่โครงการนี้ถ้าเกษตรกรจ่าย 1% แปลว่ารัฐต้องชดเชย 4% ซึ่งเกินเพดาน ทำให้ต้องคุยเหตุผลความจำเป็นกับกระทรวงการคลัง เพราะถ้าต้องการแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้หมดไปภายใน 3 ปีก็ต้องเร่ง"เลขาธิการ สอน. กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ