สศก. เผยมี.ค.ดัชนีรายได้เกษตรกรปรับลง หลังผลผลิตปาล์มน้ำมัน-มันสำปะหลัง-กุ้งขาวแวนนาไมออกสู่ตลาดมากกดราคา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 29, 2019 11:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยผลวิเคราะห์ดัชนีเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งภาพรวมวัดจากดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนมีนาคม 2562 ลดลง 4.03% จากเดือนมีนาคม 2561 เป็นผลมาจากดัชนีราคาและดัชนีผลผลิตที่ปรับตัวลดลง โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาเดือนมีนาคม 2562 ลดลง 2.19% จากเดือนมีนาคม 2561

สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง และสต็อกน้ำมันปาล์มยังมีค่อนข้างมาก ขณะที่ตลาดชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ และถูกแข่งขันจากน้ำมันถั่วเหลือง โดยภาครัฐได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเพื่อยกระดับราคา นำน้ำมันปาล์มส่วนเกินไปผลิตกระแสไฟฟ้า และส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 20 ในกลุ่มรถบรรทุกด้วยการอุดหนุนราคาต่ำกว่าดีเซลปกติ (บี 7) และผลักดันการใช้บี 10 เป็นพลังงานทางเลือก

มันสำปะหลัง ราคาลดลงเนื่องจากเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตมาก ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าความต้องการของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้ดำเนินมาตรการตามแนวทางบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหามันสำปะหลัง ปี 2561/62 ทั้งระบบ เช่น โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

กุ้งขาวแวนนาไม ราคาลดลงเนื่องจากสต็อกกุ้งยังมีมากทำให้ผู้ประกอบการชะลอการรับซื้อ ประกอบกับภาวะการค้าภายในประเทศทรงตัว ซึ่งจากผลการประชุมเครือขายผู้เลี้ยงกุ้งไทยครั้งที่ 3/2562 มีแผนขยายการส่งออกกุ้งไปยังตลาด EU และจีน โดยเน้นคัดเลือกกุ้งที่มีคุณภาพจากสหกรณ์การเกษตรที่ได้มาตรฐานห้องเย็นตรงกับเงื่อนไข รวมทั้งการขอความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนรณรงค์ให้ความรู้เกษตรกรในเครือข่ายให้ผลิตกุ้งที่มีคุณภาพปลอดสารเคมี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้น

ขณะที่สินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นเดือนมีนาคม 2562 ได้แก่ สับปะรด ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่มีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงาน

ทุเรียน ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูที่ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะผู้ส่งออกมีความต้องการมาก

และสุกร ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากตลาดภายในประเทศยังคงมีความต้องการบริโภคอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผู้ผลิตสามารถป้องกันโรคระบาดในสุกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น แต่จากสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) แพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้างขึ้น ครม. จึงได้เห็นชอบแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทยเป็นวาระแห่งชาติ ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอแล้ว เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 มีแผนใช้จ่ายงบประมาณในปี 2562 - 2564 วงเงินงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 148 ล้านบาท โดยดำเนินการระยะเร่งด่วนในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค สำหรับระยะยาวให้ยกระดับมาตรการการควบคุมป้องกันโรคให้มีมาตรฐานสากล

ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนมีนาคม 2562 ลดลง 1.88% จากเดือนมีนาคม 2561 สินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตลดลง ได้แก่ อ้อยโรงงาน สับปะรด และหอมแดง ด้านสินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กระเทียม ไก่เนื้อ และไข่ไก่

สำหรับดัชนีรายได้ของเกษตรกรในเดือนเมษายน 2562 คาดว่าลดลง 0.96% จากเดือนเมษายน 2561 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตสินค้าปรับตัวลดลง 0.65% ได้แก่ อ้อยโรงงาน สับปะรด และหอมแดง เช่นเดียวกับดัชนีราคาที่ปรับตัวลดลง 0.31% จากสินค้าสำคัญอ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน หอมแดง กระเทียม และกุ้งขาวแวนนาไม

ทั้งนี้ เดือนพฤษภาคม 2562 คาดว่า ดัชนีรายได้เกษตรกรจะทรงตัว ส่วนดัชนีราคาจะมีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย ในขณะที่ดัชนีผลผลิตจะยังทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มรายได้ของเกษตรกร โดยมีหน่วยงานต่างๆ บูรณาการร่วมและปรับแผนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อรองรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ออกตลาดและมีราคาปรับตัวลดลงในขณะนั้นอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ