(เพิ่มเติม) สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มี.ค. และ Q1/62 หดตัว จากผลกระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 30, 2019 12:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือน มี.ค. 62 อยู่ที่ 115.68 ปรับลดลง 2.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนมี.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 74.38%

โดยประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตในเดือนมี.ค. ได้แก่ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (หักทอง) ของไทยหดตัว 6.1% ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกไทยยังติดลบส่วนหนึ่ง คือ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว จึงกระทบกำลังซื้อทั่วโลกลดลง รวมถึงการส่งออกด้วย โดยพบว่าการส่งออก 60 ประเทศ ใน 94 ประเทศทั่วโลกมีตัวเลขการส่งออกที่ติดลบ

นายอิทธิชัย ยศสรี รองผู้อำนวยการ สศอ. เปิดเผยว่า ดัชนีอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. ยังคงแข็งแกร่ง แม้ได้รับผลกระทบจากอากาศที่ร้อนจัดที่ส่งผลให้สินค้าเกษตรซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารมีจำนวนลดลง รวมถึงการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

สำหรับอุตสาหกรรมหลัก ที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค.ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ ที่ขยายตัว 2.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรถปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์นั่งขนาดกลาง โดยเป็นไปตามความต้องการของตลาดภายในประเทศหลังสิ้นสุดมาตรการรถยนต์คันแรก ผู้ผลิตได้เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย (บางกอกมอเตอร์โชว์) โดยยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 27 แล้ว รวมถึงการส่งออกที่ขยายตัวในตลาดเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป ส่งผลให้ปริมาณการผลิตรถยนต์สูงที่สุดในรอบ 68 เดือน

น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัว 2.01% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันเบนซิน 95 เป็นหลัก ซึ่งเป็นไปตามความต้องการใช้ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น

ยา ขยายตัว 13.28% จากผลิตภัณฑ์ยาเม็ด ยาฉีด ยาผง และยาครีม เนื่องจากผู้ผลิตบางรายได้เร่งการผลิตเต็มที่หลังจากการติดตั้งเครื่องจักรใหม่ตั้งแต่ต้นปี

ผลิตภัณฑ์นม ขยายตัว 6.85% เนื่องจากในปีนี้มีปริมาณน้ำนมดิบมากขึ้น ผู้ผลิตจึงต้องผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม รวมถึงการเปิดช่องทางใหม่ๆ ในการจำหน่ายสินค้า และขยายไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น อาทิ เมียนมา มาเลเซีย และ กัมพูชา

น้ำมันปาล์ม ขยายตัว 4.63% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและปาล์มบริสุทธิ์ โดยมีสาเหตุจากอากาศที่ร้อนจัดส่งผลให้ผลปาล์มสุกเร็วขึ้น อีกทั้งเกษตรกรหลายพื้นที่ได้เปลี่ยนมาปลูกน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ จากดัชนีผลผลิตอุตสากรรมเดือนมี.ค.ที่หดตัวลง ทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาส 1/62 หดตัว 1.13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับภาวะอุตสาหกรรมสาขาสำคัญในไตรมาส 1/62 ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตรถยนต์ 561,487 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.04% โดยเป็นการจำหน่ายในประเทศ 263,549 คัน เพิ่มขึ้น 11.16% และเป็นการส่งออก 299,841 คัน เพิ่มขึ้น 1.56%

อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตและการส่งออกในไตรมาส 1/62 ยังคงทรงตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 0.3% และ 0.1% ตามลำดับ แม้จะมีปัจจัยลบอย่างเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ประกอบกับสินค้าเกษตรที่ Over Supply ในปีก่อน อย่างสับปะรดกระป๋อง รวมทั้งการเร่งระบายสต็อกไก่สดแช่แข็งที่ผลิตไว้ในช่วงปลายปี และฐานในปีก่อนค่อนข้างสูง แต่ยังคงมีปัจจัยบวกสำคัญจากการเร่งกำลังการผลิตน้ำตาลให้ทันช่วงปิดหีบอ้อย

อีกทั้งความต้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในสินค้าแป้งมันสำปะหลัง ทูน่าประป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง และไก่แปรรูปในประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และกลุ่มประเทศอาเซียน

อุตสาหกรรมปิโตรเคมี การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.59% จากการผลิตเพื่อการส่งออกที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาปิโตรเคมีเฉลี่ยอยู่ที่ 1,185 เหรียญสหรัฐ/ตัน

นายอิทธิชัย กล่าวว่า สำหรับในเดือนเม.ย. ประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิต ได้แก่ มูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบหักทองเดือนมี.ค. ติดลบ 8.6% โดยเป็นการติดลบเป็นครั้งที่ 3ใน 4 เดือนหลังสุด อาจส่งผลต่อ MPI ในช่วงเวลาข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ