ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มเป็นกว่า 1.7 หมื่นลบ. หากภัยแล้งลากยาวถึงก.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 10, 2019 12:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับคาดการณ์ผลกระทบจากภัยแล้งที่มีต่อพืชเกษตรที่กำลังเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้ง จากเดิมที่เคยประเมินผลกระทบของภัยแล้งในปี 2562 (ณ เดือนมีนาคม) ว่าน่าจะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม โดยคิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 15,300 ล้านบาท แต่ครั้งนี้จะเป็นการปรับคาดการณ์กรอบเวลาที่เกิดภัยแล้งเพิ่มเติมว่า ภัยแล้งอาจกินเวลาลากยาวออกไปอีกราว 2 เดือนคือ มิถุนายน-กรกฎาคม ซึ่งอาจกระทบต่อมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นราวเดือนละ 1,000 ล้านบาท จนอาจประเมินได้ว่าหากภัยแล้งลากยาวไปจนถึงเดือนก.ค.2562 ก็อาจทำให้เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมที่ราว 17,300 ล้านบาท โดยเป็นการประเมินความเสียหายของข้าวนาปรังและอ้อยเป็นหลักและจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมรายได้เกษตรกรให้แย่ลงไปอีกจากคาดการณ์เดิม ดังนี้

พืชเกษตรที่กำลังเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้งที่จะได้รับผลกระทบหนักสุดคือ ข้าวนาปรังและอ้อย ซึ่งหากภัยแล้งลากยาวกินเวลาต่อไปอีก 2 เดือนข้างหน้า ก็จะกระทบต่อผลผลิตข้าวนาปรังที่ยังทยอยออกสู่ตลาดและผลผลิตอ้อยที่จะอยู่ในช่วงการปลูกอ้อยต้นฝน (ในเขตอาศัยน้ำฝน) ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาข้าวและอ้อยอาจขยับขึ้นได้ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2562 แต่ในแง่ของภาพรวมราคาเฉลี่ยทั้งปี 2562 อาจยังให้ภาพที่หดตัวอยู่ด้วยปัจจัยด้านการแข่งขันในตลาดโลกที่ยังรุนแรง รวมถึงปริมาณผลผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่า ภาพรวมราคาข้าวเฉลี่ยในปี 2562 อาจอยู่ที่ 10,700-10,800 บาทต่อตัน หรือหดตัว 0.3-1.2% (YoY)

สำหรับราคาอ้อยเฉลี่ยในปี 2562 อาจอยู่ที่ 700-710 บาทต่อตัน หรือหดตัว 0.4-1.8% (YoY) รายได้เกษตรกรในปี 2562 อาจให้ภาพที่แย่ลงไปอีก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลจากภัยแล้งในปี 2562 หากกินเวลาเพิ่มขึ้นอีก 2 เดือน จะยิ่งส่งผลกดดันซ้ำเติมรายได้เกษตรกรจากผลของแรงฉุดด้านผลผลิต ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมรายได้เกษตรกรในปี 2562 ให้หดตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 2.1-2.4% (YoY) เมื่อเทียบกับคาดการณ์เดิมที่หดตัว 1.2-1.6% (YoY)

อย่างไรก็ดี หากภัยแล้งมีแนวโน้มที่จะกินเวลายาวนานไปจนถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งจะเป็นช่วงฤดูการเพาะปลูกข้าวนาปี ก็อาจทำให้มีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าที่ประเมินไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ