รายงานกนง. มองความไม่แน่นอนเศรษฐกิจโลกและปัจจัยในประเทศยังมีอยู่สูง ต้องติดตามใกล้ชิด รอประเมินผลกระทบ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 22, 2019 11:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 8 พ.ค.62 โดยคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปีในการประชุมครั้งนี้ เพื่อรอประเมินผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ให้ชัดเจนขึ้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายถึงปัจจัยที่มีผลต่อการพิจารณาดำเนินนโยบายการเงิน ดังนี้

1) เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกสินค้าและการลงทุน โดยการส่งออกสินค้าขยายตัวชะลอลงมากกว่าคาดตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ด้านการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง เนื่องจากนักลงทุนส่วนหนึ่งรอประเมินความชัดเจนของแนวนโยบายหลังการจัดตั้งรัฐบาลและความต่อเนื่องของโครงการลงทุนภาครัฐ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากความล่าช้าของโครงการลงทุนภาครัฐ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแต่ยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงการจ้างงานที่มีสัญญาณชะลอลงในภาคก่อสร้างและภาคการผลิต

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไปโดยเฉพาะ (1) มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจกลับมารุนแรงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและการส่งออกสินค้าของไทย รวมถึงแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักและจีนที่อาจส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ

คณะกรรมการฯ อภิปรายอย่างกว้างขวางถึงความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยในประเทศโดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นในระยะข้างหน้าและส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) เศรษฐกิจและการค้าโลกจะชะลอตัวลงและส่งผลต่อไทยผ่านการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน (2) ด้านการค้า (trade diversion) โดยสินค้าไทยที่ส่งไปประกอบในจีนและเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตที่ส่งออกต่อไปยังตลาดสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบ แต่ขณะเดียวกันสินค้าที่ได้รับประโยชน์จะเป็นกลุ่มที่สามารถส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ เพื่อทดแทนสินค้าจากจีน (substitution effect) และ (3) ด้านการลงทุน (investment diversion) ซึ่งผู้ประกอบการอาจย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียนและไทย ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นความเสี่ยงที่สำคัญและยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและวิเคราะห์ผลกระทบเชิงลึกมากขึ้น

(2) ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจส่งผลต่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญและอาจมีผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่สูงขึ้นมีนัยต่อแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยตรงผ่านการใช้จ่ายภาครัฐในระยะถัดไป และส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการบริโภคภาคเอกชนและความเชื่อมั่นของนักลงทุน

(3) ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจทวีความรุนแรงและขยายพื้นที่มากขึ้นอาจส่งผลต่อกำลังซื้อของเกษตรกรและความยั่งยืนของการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป

และ (4) การจ้างงานในภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกที่อาจชะลอลงและส่งผลต่อรายได้โดยรวม ซึ่งอาจกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนมากกว่าคาด

2) ระบบการเงินยังมีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพของระบบการเงินในอนาคต อาทิ (1) การก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่ปรับสูงขึ้นโดยเฉพาะสินเชื่อในหมวดรถยนต์ ทั้งสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์และสินเชื่อรถแลกเงิน ขณะที่ NPL ในหมวดสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่ผ่อนคลายในช่วงก่อนหน้าจากการแข่งขันที่สูงขึ้นภายหลังผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงิน (non-bank) มีบทบาทมากขึ้น นอกจากนี้ ต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SME ที่มีแนวโน้มด้อยลง (2) พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งอาจนำไปสู่ การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) ในส่วนที่เกี่ยวกับระบบสหกรณ์ออมทรัพย์และการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และ (3) ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะอุปทานคงค้างในบางพื้นที่

คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ดำเนินการไปในช่วงก่อนหน้าช่วยลดความเปราะบางในระบบการเงินได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ดีการพิจารณาใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่เหมาะสมยังจำเป็นสำหรับการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินในระยะข้างหน้า เนื่องจากมาตรการ macroprudential และ microprudential ที่ดำเนินการไปแล้วสามารถดูแลความเสี่ยงได้ครอบคลุมเฉพาะประเภทสินเชื่อและสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งมีผลบังคับใช้เฉพาะสินเชื่อใหม่เท่านั้น โดยคณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามผลของมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้ศึกษามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมเพื่อป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน ช่วยชดเชยผลของราคาอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่ราคาอาหารสดจะปรับสูงขึ้นในระยะข้างหน้าจากสถานการณ์ภัยแล้ง คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามปัจจัยที่อาจกระทบต่อราคาน้ำมันดิบและราคาอาหารสดโดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งที่อาจรุนแรงขึ้น

สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นช้ากว่าในอดีต

สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะยาวทรงตัว

นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายถึงการนำประเด็นด้านเสถียรภาพระบบการเงินเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการตัดสินนโยบายการเงิน โดยเห็นควรให้ใช้เครื่องชี้ด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่หลากหลายซึ่งรวมถึงเครื่องชี้วัฏจักรการเงิน (financial cycle) ที่มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงด้านลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้มีการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงเสถียรภาพระบบการเงินในหลายมิติ ทั้งความเชื่อมโยงในระบบการเงิน(interconnectedness) การประเมินสถานการณ์ในระยะข้างหน้าและการจัดทำ scenario planning รวมทั้งการวิเคราะห์ความสามารถในการรองรับความเสี่ยงของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งนี้คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ฝ่ายเลขานุการฯ พัฒนาเครื่องชี้และกรอบการวิเคราะห์อย่างต่อเนื่องเพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินนโยบายการเงินอย่างเป็นระบบมากขึ้นในระยะต่อไป

คณะกรรมการฯ อภิปรายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับแนวทางการดูแลและป้องกันความเสี่ยงบางจุดที่อาจสร้างความเปราะบางต่อเสถียรภาพระบบการเงิน โดยเฉพาะการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ การปรับตัวของความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์หลังการออกมาตรการ LTV รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่าการลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะต่อไปยังจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลด้วยเครื่องมือที่หลากหลายทั้ง (1) อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม (2) มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) อาทิ การดูแลมาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน และ (3) มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ที่จะต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้รวมถึงแนวนโยบายอื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ โครงการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน (คลินิกแก้หนี้) การส่งเสริมความรู้และวินัยทางการเงินแก่ประชาชน ตลอดจนสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งออกเกณฑ์การกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ตาม พ.ร.บ. สหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 เพื่อให้ระบบสหกรณ์ออมทรัพย์มีเสถียรภาพที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเห็นว่าในการตัดสินนโยบายครั้งนี้ คณะกรรมการฯ จำเป็นต้องรอประเมินผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ให้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและปัจจัยในประเทศยังมีอยู่สูง นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันจึงยังมีความเหมาะสม สำหรับในระยะข้างหน้า การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปตามพัฒนาการของข้อมูลเป็นสำคัญ (data-dependent) โดยจะประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ