พาณิชย์ เผยผลหารือภาคเอกชน เตรียมเสนอตั้งวอร์รูม-แผนรับมือผลกระทบจากสงครามการค้า หลังคาดยืดเยื้อ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 29, 2019 18:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับภาคเอกชนเพื่อหาแนวทางรับมือผลกระทบสงครามการค้า มองว่า ปัญหาสงครามการค้าน่าจะยืดเยื้อ จึงจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 11 มิ.ย.นี้ จัดตั้งศูนย์ติดตามสถานกรณ์สงครามการค้า (วอร์รูม) โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการจากสถาบันต่างๆ มาร่วม เพื่อให้การแก้ปัญหาทันกับสถานการณ์ และเพื่อให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงจะเสนอมาตรการแก้ปัญหาทั้ง 3 ระยะให้พิจารณาด้วย

สำหรับแผนการรองรับผลกระทบจะมีทั้งระยะสั้น กลาง และยาว โดยในระยะสั้น คือ รุกตลาดใหม่ให้มากขึ้น หามาตรการป้องกันตัวเองและติดตามเฝ้าระวังการสวมสิทธิ์สินค้าไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ส่วนระยะกลาง จะต้องเร่งเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อไม่ให้เกิดการเสียบเปรียบด้านการค้า ขณะที่ระยะยาว ไทยจะต้องปรับโครงสร้างสินค้าส่งออก ให้มีสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม และสินค้าเกษตรมากขึ้น จากปัจจุบันที่สินค้าส่งออกหลักของไทยจะเป็นสินค้าอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่, ปรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน, มีการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ส่วนเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้ น.ส.ชุติมา กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้ปรับเป้าหมายใหม่ เพราะต้องรอหารือในการประชุมทูตพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้งในวันที่ 31 พ.ค.นี้ โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งเดิมกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายมูลค่าส่งออกขยายตัว 8% จากปี 61 มูลค่าประมาณ 272,000 ล้านเหรียญฯ แต่ภาคเอกชน ประเมินขยายตัวได้เพียง 0-1% เท่านั้น

น.ส.ชุติมา กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มต้นสงครามการค้าในปี 61 ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยตั้งแต่ปี 61 ถึง 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ปี 62 หายไปแล้ว 630.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลง 0.19% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่หากนับเฉพาะเดือนม.ค.-เม.ย.62 มูลค่าการส่งออกของไทยลดลงแล้ว 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกที่ลดลงถือว่ายังไม่สูงมากนัก และจะมีทั้งกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบ และผลดีโดยกลุ่มที่ได้รับผลดี เช่น รองเท้า เคมีภัณฑ์ เครื่องแต่งกายที่ยังมีโอกาสขยายตัว ส่วนกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังแต่สามารถปรับตัวได้ ให้ที่ประชุมร่วมหาแนวทางผลักดันให้ส่งออกขยายตัว พร้อมกับหาแผนรับมือต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ