คลัง เผยศก.ภูมิภาคเม.ย.62 ขยายตัวดีจากการบริโภค-ลงทุนเอกชน-ท่องเที่ยว นำโดยภาคตะวันออก-ตะวันตก-กทม.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 30, 2019 12:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนเมษายน ปี 2562 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนเมษายน ปี 2562 ยังขยายตัวได้ นำโดยภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และกรุงเทพและปริมณฑล โดยทั้ง 3 ภูมิภาคได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูงขยายตัวต่อเนื่องอย่างน้อย 5 เดือนติดต่อกัน การลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวในหลายภูมิภาค และการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่องในทุกภูมิภาค สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี

โดยภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัว 15.3% ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง เป็นต้น ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวเล็กน้อย 0.1% ต่อปี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัว 8.6% และ 8.3% ต่อปี ตามลำดับ รวมถึงเงินลงทุนที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนเมษายน 2562 มีมูลค่า 1,992 ล้านบาท จากการลงทุนในโรงงานผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าในจังหวัดปราจีนบุรีเป็นสำคัญ

ด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัว สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 5.2% ต่อปี จากการขยายตัวทั้งจากผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและชาวต่างประเทศ 3.7% และ 5.9% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ในเดือนเมษายน 2562 ที่ยังคงอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ 110.2 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ 0.9% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ 0.7% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจฟื้นตัว จากการลงทุนและบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ 2,295 ล้านบาท ขยายตัว 214.8% ต่อปี ตามการลงทุนในโรงงานผลิตอาหารผสมหรืออาหารสำเร็จรูปสำหรับสัตว์ในจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นสำคัญ สอดคล้องกับยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวร้อยละ 11.2% และ 2.6% ต่อปี จากการขยายตัวจังหวัดเพชรบุรี และกาญจนบุรี เป็นต้น ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชน ยังขยายตัวเล็กน้อย สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวที่ 2.0% และ 3.4% ต่อปี ตามลำดับ

สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี สะท้อนจากรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัว 4.5% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวทั้งจากผู้เยี่ยมเยือนของคนไทยและคนต่างประเทศที่ 4.2% และ 6.0% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ 1.1% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ 0.5% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง จากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน และการลงทุนภาคเอกชนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวในอัตราการเร่งที่ 18.8% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน เช่นเดียวกันกับยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 8.3% ต่อปี ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัว 15.7% และ 10.0% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยฉพาะจังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวที่ 3.1% ต่อปี จากการขยายตัวนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่ 4.8% ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน 2562 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและการผลิตภายในภูมิภาคที่ 1.5% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว จากการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัว 4.8% ต่อปี จากการขยายตัวในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดช่วงตอนบนของภาคที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ จังหวัดหนองคาย เลย และบึงกาฬ เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัวที่ 12.0% ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดบุรีรัมย์ สกลนคร และนครราชสีมา เป็นต้น ส่วนยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนเมษายน 2562 หดตัวลง -5.7% ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัว สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัว 7.2% ต่อปี เช่นเดียวกันกับเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ 1,220 ล้านบาท ขยายตัว 153.3% ต่อปี จากการลงทุนในโรงงานผลิตเกลือบริสุทธิ์ในจังหวัดนครราชสีมาเป็นสำคัญ

สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัว 8.4% ต่อปี จากการขยายตัวทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ 8.4% และ 7.6% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ 1.4% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ 0.7% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการการลงทุนและบริโภคภาคเอกชน แต่ภาคการท่องเที่ยวปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัว สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัว 7.7% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดสุโขทัย ตาก และเพชรบูรณ์ เช่นเดียวกันกับเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ 550 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดเชียงใหม่ และเพชรบูรณ์ เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัว 2.4 และ 4.1% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ส่วนยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนเมษายน 2562 หดตัวลง -4.6% ต่อปี

สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในอัตราชะลอลง จากรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือนเมษายน 2562 หดตัว -2.3% ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ 1.4% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนมีนาคม2562 อยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคกลาง เศรษฐกิจทรงตัว จากการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว แต่การการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ จากการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัว สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัว 15.8% ต่อปี จากการขยายตัวในทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสระบุรี ชัยนาท และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น เช่นเดียวกันกับเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ 1,732 ล้านบาท ขยายตัว 124.3% ต่อปี จากการลงทุนในโรงงานผลิตเมล็ดธัญพืชอบแห้งต่าง ๆ เช่น เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง และเมล็ดแตงโมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นสำคัญ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว จากการปรับตัวลดลงจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และยอดรถจักยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนเมษายน 2562 หดตัวที่ -1.7% และ -6.7% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ส่วนยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัว 17.3% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดสระบุรี ลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี รายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัว 2.7% ต่อปี จากการขยายตัวทั้งคนไทยและต่างประเทศที่ 1.8% และ 5.7% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ 0.2% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ 1.2% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคใต้ เศรษฐกิจทรงตัว จากการขยายตัวการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนและภาคการท่องเที่ยว แต่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ จากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัว 1.5% และ 8.2% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดพัทลุง นราธิวาส และนครศรีธรรมราช เป็นต้น ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนเมษายน 2562 หดตัวลงเล็กน้อยที่ -0.2% ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรทรงตัวจากเดือนก่อน จากการปรับตัวลดลงของรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่และเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนเมษายน 2562 หดตัวลงที่ -8.1% และ -1.6% ต่อปี ตามลำดับ แต่ยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัว 10.4% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดชุมพร ยะลา และพังงา เป็นต้น

สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนเมษายน 2562 ขยายตัว 6.3% ต่อปี โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นจากรายได้ผู้เยี่ยมเยือนของคนไทยและคนต่างประเทศที่ขยายตัว 4.4% และ 7.0% ต่อปี ตามลำดับ ส่วนด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ