(เพิ่มเติม1) ศูนย์วิจัยกสิกรหั่น GDP ไทยปี 62 เหลือโต 3.1% จากเดิม 3.7% รับสงครามการค้าฉุดส่งออก, มองแนวโน้มบาทยังแข็งค่า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 26, 2019 14:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 62 ลงเหลือโต 3.1% จากเดิมที่ 3.7% โดยมีปัจจัยสำคัญจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ทำให้การส่งออกไทยชะลอตัว พร้อมกันนี้ ยังได้ปรับลดประมาณการส่งออกไทยในปีนี้ลงเหลือ 0% จากเดิมที่ 3.2% เนื่องจากทิศทางการค้าโลกชะลอตัวจากปัญหาสงครามการค้า

ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังปรับลดประมาณการสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในปีนี้เหลือเติบโต 4.5% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 5% เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนชะลอลง ประกอบกับมาตรการ LTV ส่งผลกระทบต่อการขอสินเชื่อบ้าน

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทิศทางการค้าโลกในระยะที่เหลือของปีนี้ อาจถูกกดดันจากการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในวงเงินที่เหลืออีก 3.25 แสนล้านดอลลาร์ฯ ทำให้มีการปรับลดประมาณการของการส่งออกในปีนี้ลงมาที่ 0% จากเดิมที่ 3.2% ซึ่งต้องติดตามผลการประชุม G20 และการหาทางออกของเกมการเมืองของทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาท

"หากมีสัญญาณบวกจากการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนมากขึ้น การส่งออกยังมีโอกาสโตในแดนบวก ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ตัวเลข GDP เอียงเข้าหากรอบบนของช่วงประมาณการใหม่ที่ 2.9-3.3% ได้" น.ส.ณัฐพรกล่าว

พร้อมระบุว่า แม้ตัวเลข GDP ทั้งปีอาจลดภาพบวกลงจากเดิม แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก จากผลของฐานและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ที่คาดว่าจะผลักดันนโยบายที่สอดคล้องกับที่พรรคร่วมรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ช่วงก่อนการเลือกตั้ง อาทิ นโยบายประชารัฐ ประกันรายได้พืชผลเกษตร รวมถึงนโยบายเร่งด่วนเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย แรงกระตุ้นเหล่านี้น่าจะเพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบจากความล่าช้าของงบประมาณประจำปี 63 ได้

ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยนั้น การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยให้น้ำหนักกับประเด็นเชิงเสถียรภาพ คู่ขนานไปกับการติดตามปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีอยู่มาก ขณะที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ราว 1-2 ครั้งในปีนี้ หลังสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มอ่อนแรงลง

ด้านสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยนั้น น.ส.ณัฐพร มองว่าตัวเลขทั้งปีนี้ น่าจะเติบโตที่ 4.5% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 5% โดยถูกถ่วงลงจากสินเชื่อภาคธุรกิจที่เติบโตช้าตามบรรยากาศเศรษฐกิจ รวมถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปีที่คงทยอยรับรู้ผลกระทบจากการเร่งซื้อล่วงหน้าไปแล้วก่อนมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา

ขณะที่ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) นั้น แม้จะมีโอกาสปรับขึ้นในช่วงระหว่างปี โดยเฉพาะจากหนี้ที่เคยปรับโครงสร้างไปแล้ว (Re-Entry) แต่ปิดปี ก็น่าจะรักษาระดับที่สอดคล้องกับเป้าหมายของธนาคารแต่ละแห่ง

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาทในปัจจุบันถือว่าแข็งค่าขึ้นอย่างมาก โดยแข็งค่าขึ้นเกือบ 6% ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ซึ่งมาจากการที่ตลาดรับปัจจัยของการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณโอกาสของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯในการประชุมเดือนก.ค.ที่จะถึงนี้ ทำให้กระแสเงินทุนกลับมาไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น รวมถึงไหลเข้าในตลาดหุ้นและตสาดสารหนี้ไทยอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่นักลงทุนมีความมั่นใจความปลอดภัยของเงินทุนที่นำมาพักไว้ เพราะมีทุนสำรองที่อยู่ในระดับสูง และมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลอยู่ ทำให้ค่าเงินบาทในปัจจุบันแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 30.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยที่ในสิ้นปีนี้ยังคงค่าเงินบาทอยู่ที่ 31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หากธนาคารกลางสหรัฐฯลดอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯลง 1 ครั้งในการประชุมครั้งหน้าในเดือนก.ค.ที่จะถึงนี้ จะส่งผลให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าในสิ้นปีนี้ที่ระดับ 30.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยยังมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะคงดอกเบี้ยไปถึงสิ้นปีนี้ที่ 1.75% เพื่อรอประเมินสถานการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งหากเศรษฐกิจไทยยังสามารถเติบโตได้ในระดับ 3% ก็จะทำให้กนง.ยังมีโอกาสคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม แต่หากว่าสดลงต่ำกว่า 3% ก็คาดว่าจะมีการทบทวนเพื่อประเมินทิศทางของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไทย

ส่วนการเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัล Libra ของ Facebook นายเชาว์ มองว่า เป็นเรื่องที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงของระบบการเงินในระยะกลาง-ยาว เพราะเป็นสกุลเงินที่เพิ่งมีการจัดตั้ง และยังต้องรอหน่วยงานกลาง หน่วยงานกำกับ และธนาคารกลางจากทั่วโลก ในการพิจารณาผลกระทบต่างๆ รวมไปถึงความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้สกุลเงิน Libra ว่าจะสามารถสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งานได้อย่างไรกับแพลตฟอร์มใหม่ที่เกิดขึ้นของ Libra แม้ว่าจะมีสินทรัพย์ค้ำประกันเป็นสกุลเงินหลักในตะกร้าเงินของโลกก็ตาม

สำหรับ Libra ในประเทศไทยนั้นมองว่ายังจะต้องใช้ระยะเวลาในการเริ่มใช้จริงอีก 2 ปี แม้ว่า Facebook จะประกาศออกมาว่าเริ่มใช้ในปี 63 แต่การนำ Libra มาใช้ในประเทศไทยยังต้องรอผ่านการรับรองของหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นต้น ซึ่งยังมีโจทย์ที่ให้ทางผู้พัฒนา Libra ยังต้องตอบคำถามกับทางหน่วยงานต่างๆของไทย เพื่อทำให้มั่นใจว่าการใช้สกุลเงินดิจิทัล Libra จะสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้ได้ "แม้ว่า Libra จะเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีสินทรัพย์รองรับ แต่ยังมีโจทย์อีกมากที่ยังต้องตอบคำถามหน่วยงานต่างๆและฝ่ายกำกับทั่วโลก แม้ว่าจะมีพันธมิตรเข้ามาร่วมแล้วก็ตาม สิ่งที่ Libra ต้องทำให้ทุกคนมั่นใจ คือ ใช้แล้วมีความปลอดภัยทั้งการใช้จ่าย การเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้ ต้องมีความเป็นส่วนตัว และไม่ทำให้เกิดวิกฤตการเงินขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังต้องไช้เวลาอีกสักระยะ"นายเชาว์ กล่าว อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าหากสกุลเงินดิจิทัล Libra ผ่านการรองรับจากหน่วยงานต่างๆและมีการใช้ที่ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายแล้ว จะเป็นสิ่งที่ดีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการการเงินของโลก ทำให้ระบบการชำระเงินและการแลกเปลี่ยนเงินตราเปลี่ยนไป และมีต้นทุนที่ถูกลง ประกอบกับทำให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ Libra ที่ต้องการให้ทุกคนได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และจะทำให้สกุลเงินดิจิทัลและผู้พัฒนา E-wallet รายอื่นๆต้องมีการปรับตัวและพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาแข่งขัน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานในอนาคต สำหรับผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์จากการเข้ามาของสกุลเงินดิจิทัล Libra ในปัจจุบันยังไม่สามารถประเมินได้ เพราะยังคงต้องรอการพิจารณาเพื่องรองรับสกุลเงินดิจิทัล Libra จากธนาคารกลางต่างๆทั่วโลกก่อน ซึ่งธนาคารกลางต่างๆทั่วโลกจะต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ต่างๆของธนาคารพาณิชย์ไนประเทศนั้นๆไว้ไม่ให้เกิดผลกระทบขึ้น พร้อมกับธนาคารพาณิชย์ต่างๆจะต้องเริ่มเตรียมความพร้อมในการปรับตัวเพื่อให้สามารถรองรับการทำธุรกรรมของสกุลเงินดิจิทัล Libra ได้ และสามารถช่วยเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ในการทำธุรกรรม และประโยชน์ต่อลูกค้าของธนาคารที่ต้องการใช้สกุลเงินดิจิทัล Libra


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ