CIMBT ปรับลด GDP ปี 62 เหลือโต 3.3% จากเดิม 3.7% พร้อมคาดปี 63 โต 3.2% หลังส่งออกรับผลกระทบสงครามการค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 2, 2019 14:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า สำนักวิจัยฯได้ปรับมุมมองเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 62 ต่อเนื่องไปยังปี 63 โดยเดิมเมื่อเดือน ธ.ค.61 สำนักวิจัยฯ มองว่า GDP ปี 62 จะขยายตัว 3.7% ซึ่งเป็นอัตราคาดการณ์ค่อนข้างต่ำ แต่วันนี้ได้ปรับมุมมองมาอยู่ที่ 3.3% สำหรับปี 62 และ 3.2% สำหรับปี 63 สะท้อนถึงการขยายตัวที่อ่อนแรงลง

การปรับลดทุมมองรอบนี้มาจากสงครามการค้าที่กระทบการส่งออกของไทย โดยคาดว่าครึ่งปีแรกการส่งออกจะหดตัว 3% ส่วนครึ่งหลังจะหดตัวเพียงเล็กน้อย และเฉลี่ยทั้งปีจะหดตัวราว 1% กว่า หากการส่งออกลำบากจะกระทบกับการลงทุนเอกชนลังเลที่จะขยายกำลังการผลิต เนื่องจากยังมีอัตราการใช้กำลังการผลิตในระดับที่ต่ำ กลายเป็นปัจจัยเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทยได้ ส่วนภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวที่น้อยช่วงครึ่งแรกของปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปี แต่ไม่น่าจะฟื้นตัวได้ในระดับแข็งแกร่งมากนัก

ปัจจัยเชิงบวกสำคัญที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ น่าจะต้องหวังพึ่งนโยบายสำคัญของรัฐบาลใหม่ โดยหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.62 มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และน่าจะฟอร์มทีมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ พร้อมตั้งรัฐบาลใหม่เสร็จภายในเดือนก.ค.นี้

สำนักวิจัยฯมองว่ารัฐบาลใหม่สามารถออกนโยบายมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แบ่งเป็น 3 นโยบายหลักๆ ดังนี้ นโยบายดูแลสินค้าภาคเกษตรและกำลังซื้อภาคเกษตร - รัฐบาลชุดใหม่น่าจะเข้ามาดูแลรายได้ของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการประกันรายได้ หรือดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตไปถึงระดับของคนยากจนได้ หากทำได้จะเป็นแรงผลักดันในการกระจายรายได้เข้าไปสู่ในภาคต่างจังหวัด

นโยบายค่าครองชีพ - รัฐบาลชุดใหม่น่าจะสานต่อรัฐบาลชุดก่อนหน้า นั่นคือการใช้มาตรการผ่านบัตรสวัสดิการภาครัฐ โดยการโอนเงินของภาครัฐเข้าไปสู่คนจน น่าจะประคองเรื่องกำลังซื้อของคนผู้มีรายได้น้อยได้ และที่สำคัญ เราเชื่อว่ารัฐบาลจะสานต่อมาตรการดูแลค่าครองชีพไม่ให้ขยับขึ้นมากนัก ซึ่งคล้ายกับข้อแรก

การลงทุนภาครัฐ – ปัจจุบันยังล่าช้า ถ้ารัฐบาลเดินหน้าลงทุนได้อย่างเร่งด่วนจะดึงความเชื่อมั่นของเอกชน ให้เอกชนเข้ามาลงทุน ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถขับเคลื่อนได้

"โดยรวมแล้วเราเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐบาลต้องทำอย่างเร่งด่วน คือการดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาให้ได้ เพราะอย่าลืมว่า เรากำลังจะมีการเจรจาการค้า FTA กับต่างประเทศ เป็นเวทีที่เราสามารถผลักดันโอกาสทางเศรษฐกิจหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งตรงนี้จะผลักดันเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่งได้ ท่ามกลางความเสี่ยงจากภาคต่างประเทศ ประเทศไทยต้องสร้างความเข้มแข็งจากภายใน" นายอมรเทพ กล่าว

ด้านมุมมองนโยบายการเงิน สำนักวิจัยฯได้ปรับมุมมองนโยบายการเงินอย่างชัดเจน จากสงครามการค้าที่นำมาสู่สงครามค่าเงิน และกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามว่าจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ โดยแต่เดิมมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดทั้งปีไว้ที่ 1.75% แต่เมื่อกนง.ส่งสัญญาณเป็นห่วงทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงจากสงครามการค้า จนมากระทบการส่งออกของไทย ทำให้ กนง.ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ เราจึงมองว่า สุดท้ายแล้วจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดดอกเบี้ยเพื่อลดต้นทุนทางการเงิน กระตุ้นให้เกิดการลงทุนและการบริโภค

โดยสำนักวิจัยฯคาดว่ากนง.จะปรับลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้ง ภายใน 12 เดือนนี้ จาก 1.75% จะเหลือ 1.5% ภายในสิ้นปีนี้ และจะลดอีกครั้งหนึ่งสู่ระดับ 1.25% ภายในปีหน้า รวมปรับลด 0.5% ซึ่งอาจจะปรับลดในการประชุมติดกัน หรืออาจจะไม่ก็ได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

อีกหนึ่งเบื้องหลังของการลดดอกเบี้ยน่าจะเป็นความพยายามของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการปล่อยให้เงินบาทอ่อนค่า ตอนนี้ปัญหาสำคัญของไทยคือ การที่เงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค ตั้งแต่ต้นปีถึงตอนนี้เงินบาทแข็งค่า 6% เทียบดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประเทศอื่น ค่าเงินไม่ได้แข็งค่าตามเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ บางสกุลอ่อนค่าลงด้วย นั่นหมายความว่า ช่องว่างระหว่างค่าเงินบาทกับค่าเงินเพื่อนบ้านถ่างกว้างมากขึ้น

ยกตัวอย่าง เงินวอนเกาหลีใต้ต้นปีอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ 3.5% ซึ่งค่อนข้างแรง ส่งผลให้เงินบาทเทียบเงินวอนแข็งค่าเฉียด 9% ฝั่งผู้ส่งออกที่ส่งสินค้าไปแข่งกับเกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการแข่งกับประเทศที่ขายสินค้าคล้ายเรา เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเกษตร ผลกระทบจะแรงกว่าเพื่อน แต่ถ้าเป็นสินค้าที่เรามีความสามารถในการแข่งขัน เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ น่าจะเอาตัวรอดได้

ค่าเงินบาทที่แข็งค่าวันนี้กำลังลามมาจากสงครามการค้าที่ลามมาสู่สงครามค่าเงิน เพราะหลายประเทศในภูมิภาค ธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มมีการลดดอกเบี้ย เริ่มส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยเพื่อพยายามทำให้ค่าเงินตัวเองอ่อนค่า ดังนั้น ธปท.จะทำอย่างไรในบริบทที่ค่าเงินบาทนั้นแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค เราจะป้องกันไม่ให้ค่าเงินบาท แข็งค่ารุนแรงจนกระทบการส่งออก และทำให้เศรษฐกิจชะลอได้แค่ไหน

"การส่งออกไม่ใช่เรื่องไกลตัว ถ้าการส่งออกชะลอ จะกระทบการลงทุนในประเทศ นายจ้างจะไม่จ้างงานลูกจ้าง ไม่ขยายชั่วโมงการทำงาน ลูกจ้างไม่มีโอที จุดนี้จะทำให้รายได้นอกภาคเกษตร หรือรายได้ของคนเติบโตช้าลง ทำให้กำลังซื้อด้อยลง ส่งผลให้เศรษฐกิจอ่อนแอ ดังนั้น ทำอย่างไรค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค แต่ก่อนจะไปถึงขั้นลดดอกเบี้ย ธปท.อาจผ่อนคลายมาตรการบางอย่างเพื่อเอื้อให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีขึ้น อาจจะทบทวนมาตรการ LTV หรือมาตรการปล่อยสินเชื่อให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การลดดอกเบี้ยคงหนีไม่พ้น เพราะเราเห็นเงินร้อนเข้าตลาดเงินตลาดทุนค่อนข้างมาก อาจต้องจับตาว่าแบงก์ชาติจะทำอย่างไรเพื่อสกัดเงินร้อน ที่จะเข้ามากระทบไม่ใช่แค่ภาคการส่งออกลามเข้าสู่เศรษฐกิจภายในประเทศของเรา" นายอมรเทพ กล่าว

สุดท้ายเรื่องค่าเงินบาท สำนักวิจัยคาดเงินบาทจะแข็งค่าได้อีกเล็กน้อยที่ระดับ 30.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปลายปีนี้ ก่อนที่จะมีโอกาสอ่อนค่าไปแตะระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปลายปีหน้า ด้วยปัจจัยสำคัญคือความชัดเจนในการหยุดลดดอกเบี้ยของสหรัฐในปีหน้าขณะที่ดอกเบี้ยไทยได้ปรับลดลงตามดอกเบี้ยในตลาดโลกในที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ