ก.ท่องเที่ยวฯ เผย H1/62 ยอดนทท.ต่างชาติ 19.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 0.7% สร้างรายได้ 1.01 ล้านลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 5, 2019 14:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ (ม.ค.–มิ.ย.) มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยจำนวน 19.6 ล้านคน ขยายตัว 0.7% มีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.01 ล้านล้านบาท ขยายตัว 0.3% สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน มาเลเซีย และอินเดีย ตามลำดับ

โดยในเดือนมิ.ย. 2562 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย จำนวน 2.9 ล้านคน สร้างรายได้ 1.44 แสนล้านบาท แม้ว่าเดือนมิ.ย.จะไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยวของประเทศไทย แต่นักท่องเที่ยวชาวจีนยังคงมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย และผลจากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราหน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on arrival) ส่งผลให้มีจำนวนนักท่องเที่ยว ชาวอินเดียเดินทางมาไทยสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ที่ประมาณ 1.8 แสนคน ขยายตัว 22.2% ซึ่งการขยายตัวของตลาดนักท่องเที่ยวอินเดีย จะช่วยลดความผันผวนของรายได้จากการท่องเที่ยวจากส่วนแบ่งการตลาดของนักท่องเที่ยวจีน ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวอินเดียถือเป็นนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของไทย มีการใช้จ่ายในการเดินทางต่อครั้งค่าเฉลี่ยประมาณ 50,000 บาทต่อคนต่อครั้ง ซึ่งสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่อครั้งของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั่วไปที่มีการใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 45,000 บาทต่อคนต่อครั้ง โดยนักท่องเที่ยวอินเดียมีอัตราการเติบโตตลาดเฉพาะกลุ่มสูง เช่น กลุ่มท่องเที่ยวสุขภาพ กลุ่มคู่รักหลังแต่งงาน กลุ่มการ จัดแต่งงาน กลุ่มถ่ายทำภาพยนตร์ กลุ่มเดินทางเพื่อการประชุม เป็นต้น

สำหรับสถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศ ครึ่งแรกของปี มีชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ 76 ล้านคน-ครั้ง ก่อให้เกิดรายได้ 0.54 ล้านล้านบาท ขยายตัวประมาณ 5% จากปีที่ผ่านมา โดยจังหวัดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยขยายตัวสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ขอนแก่น (+7.44%) รองลงมา บุรีรัมย์ (+5.69%) และจันทบุรี (+5.24%) ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ยังเฝ้าจับตาดูสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิด เพราะการเดินทางท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน รวมถึงความกังวลและความเชื่อมั่นในเชิงจิตวิทยา แต่จากสถานการณ์ที่ผ่านมาในช่วงครึ่งปีแรก พบว่าอัตราการเติบโตด้านการท่องเที่ยวยังอยู่ในภาวะทรงตัว ประกอบกับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา เข้าสู่ฤดูกาล Low Season

ทั้งนี้ หากประเมินในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวจะกลับมาเติบโตเนื่องจากเข้าสู่ระยะฤดูกาลของการท่องเที่ยวประกอบรัฐบาลใหม่อาจมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวสำหรับแนวโน้มการท่องเที่ยวปี 2562 คาดว่าประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวในประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 4.3% แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 2.1 ล้านล้านบาท และรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศ 1.1ล้านล้านบาท

ประเด็นความท้าท้ายด้านการท่องเที่ยว ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ มาตรการต่าง ๆ เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจากรัฐบาลใหม่, การเข้าสู่ฤดูด้านการท่องเที่ยวของไทย, การคลี่คลายจากปัญหา Trade War ระหว่างสหรัฐและจีน, การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงไตรมาส 4, ความมั่นคงทางการเมืองและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจส่งผลต่อการเดินทางของท่องเที่ยว, การแข่งขันด้านการท่องเที่ยวที่ รุนแรง เช่น การดึงดูดนักท่องเที่ยวยุโรปของประเทศตุรกีและการดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนของประเทศญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม เป็นต้น, การแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของค่าเงินบาท

นายโชติ กล่าวว่า จากภาวะเศรษฐกิจในหลายประเทศของโลกที่ชะลอลงอาจจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางของนักท่องเที่ยวที่มีความอ่อนไหวด้านรายได้และราคาและจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวทำให้หลายประเทศใช้ภาคการท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและให้ความอำนวยความสะดวกในมาตรการด้านการท่องเที่ยวเพื่อแข่งขันในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ดังนั้น ประเทศไทยควรส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านมาตรการสิทธิประโยชน์ด้านภาษี และกิจกรรมการตลาดอื่น ๆ ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว อาทิ ขยายระยะเวลาการคืน VAT ให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและเพิ่มจุด Downtown VAT Refund ให้ครอบคลุมห้างสรรพสินค้าทั่วกรุงเทพฯและครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ และควรมีการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติรับทราบนโยบายดังกล่าวมากขึ้น มีการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเมืองหลักควบคู่เมืองรองผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ เพิ่มมาตรการภาษีในช่วง Low Season


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ