"ศิริ" เชื่อไม่มีค่าโง่กรณีรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม หลังสัมปทานบงกช-เอราวัณหมดอายุปี 65-66

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 12, 2019 16:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การที่สัมปทานปิโตรเลียมแหล่งบงกชและเอราวัณ จะหมดอายุลงในช่วงปี 65-66 นั้น ซึ่งตามข้อกฎหมายผู้ได้รับสัมปทานปัจจุบันจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมที่จะต้องกลับคืนสู่รัฐหลังสัมปทานหมดอายุ โดยเรื่องดังกล่าวปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการปิโตรเลียม จะเป็นผู้สานต่อและเร่งเจรจากับผู้ได้รับสัมปทานปัจจุบันเพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว และเชื่อว่าผู้ประกอบการจะให้ความร่วมมือภาครัฐและไม่น่าจะเกิดค่าโง่อย่างแน่นอน แม้ว่าขณะนี้มีกระแสข่าวว่ากลุ่มเชฟรอนฯ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการหลักในสัมปทานแหล่งเอราวัณ และกลุ่มโททาล ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนในสัมปทานแหล่งบงกช เตรียมที่จะฟ้องอนุญาโตตุลาการ หากไม่ได้รับความชัดเจนเรื่องการวางหลักประกันการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทาน

ทั้งนี้ มองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการตีความทางกฎหมายที่แตกต่างกัน โดยหากจะมีการยื่นฟ้องก็เป็นสิทธิของผู้ประกอบการที่จะดำเนินการได้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในแง่ของกฎหมาย เพราะเดิมกฎหมายเขียนเรื่องการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมที่หมดอายุสัมปทานไว้กว้าง ๆ แต่ก็ได้มีการออกกฎกระทรวงรองรับไว้แล้ว

ส่วนเรื่องของการวางหลักประกันค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมนั้น ถือว่าเป็นไปตามหลักสากลที่กำหนดให้ต้องวางหลักประกันไว้ แต่ในส่วนของสัดส่วนภาระค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนที่มีมูลค่าสูงประมาณหลักแสนล้านบาท ยังเป็นเรื่องที่ต้องเจรจาร่วมกัน เนื่องจากมีทั้งในส่วนของแท่นที่หมดอายุการใช้งานจริงที่ต้องรื้อถอน ซึ่งชัดเจนว่าเป็นหน้าที่ของผู้รับสัมปทานในปัจจุบัน แต่ยังมีในส่วนของแท่นที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ซึ่งจะต้องมาเจรจาร่วมกันว่าจะกำหนดสัดส่วนภาระค่าใช้จ่ายอย่างไร ระหว่างผู้รับสัมปทานเดิม กับผู้ได้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใหม่ และภาครัฐที่จะร่วมลงทุนตามระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC)

ก่อนหน้านี้ กระทรวงพลังงานระบุว่า แหล่งบงกชและเอราวัณ ปัจจุบันมีแท่นผลิต 278 แท่น คาดว่าน่าจะต้องรื้อถอนออกไปราว 50-60 แท่น และเก็บไว้ 220 แท่น ขณะที่การประมูลหาผู้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งบงกชและเอราวัณในระบบ PSC ใหม่นั้นปรากฎว่ากลุ่มบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เป็นผู้ได้รับสิทธิดังกล่าวไปทั้ง 2 แหล่ง จากปัจจุบันที่ PTTEP เป็นผู้ร่วมทุนราว 5% ในแหล่งเอราวัณที่มีกลุ่มเชฟรอน เป็นผู้ถือสัดส่วนลงทุนหลัก และแหล่งบงกช PTTEP ถือสัดส่วน 66.66% ร่วมกับกลุ่มโททาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ