แบงก์ชาติสุดทน! งัดยาแรงสกัดเงินร้อน หลังต่างชาติมองไทยเนื้อหอมเก็งกำไรดันบาทแข็งสุดรอบ 6 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 12, 2019 12:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จับตาทิศทางเงินบาท ภายหลังแบงก์ชาติเพิ่มความเข้มข้นในมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท และยกระดับการรายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติให้ลึกขึ้น หวังสกัดเงินร้อนลดแรงกดดันเงินบาทแข็งค่า ด้านเอกชนโอดส่งออก-ท่องเที่ยวรับผลกระทบเต็มๆ จี้ดูแลค่าบาทสอดคล้องภูมิภาค ขณะที่แนวโน้มเงินบาทยังแข็งค่าเหตุดอกเบี้ยตลาดโลกเริ่มเข้าสู่ขาลงหลังเฟดส่งสัญญาณหั่นลงอีกแน่นอน

ค่าเงินบาทของไทยในระยะนี้ขยันทำลายสถิติใหม่ "แข็งค่าต่อไม่รอแล้วนะ" ด้วยการแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปีเกือบทุกสัปดาห์มาตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย.62 และเมื่อวันที่ 1 ก.ค.62 เงินบาทแข็งค่าลงไปมากสุดที่ระดับ 30.52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากเทียบตั้งแต่ต้นปี 62 จะพบว่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นราว 6%

ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า และแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาคนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่ามาจากหลายปัจจัย โดยปัจจัยจากต่างประเทศมาจากท่าทีผ่อนคลายนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางอ่อนค่าลง รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ส่งผลให้นักลงทุนเข้าถือสินทรัพย์ของประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ (safe haven) รวมถึงไทยเพิ่มขึ้น

ส่วนปัจจัยในประเทศ มาจากสถานการณ์การเมืองที่ชัดเจนขึ้น และการปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นและพันธบัตรไทยในดัชนีอ้างอิงเพื่อการลงทุน (benchmark index) ของ MSCI และ JP Morgan ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายจึงไหลเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นทั้งตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีแรงขายทองคำเพื่อทำกำไรของนักลงทุนไทยในช่วงที่ราคาทองคำปรับสูงขึ้น เหล่านี้จึงเป็นปัจจัยที่เข้ามากดดันเงินบาทให้แข็งค่า

โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.62 กนง.ยอมรับว่ามีความกังวลต่อการแข็งค่าที่ค่อนข้างเร็วของเงินบาทและแข็งค่านำสกุลเงินอื่นในภูมิภาค จากการไหลเข้าของเงินทุนในช่วงสั้นๆ และทิศทางของดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า ซึ่ง กนง.กังวลเงินบาทแข็งค่าไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยจะติดตามทั้งสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและการไหลเข้าของเงินทุนอย่างใกล้ชิด แต่ทั้งนี้ ธปท.ก็มีมาตรการพร้อมใช้อยู่ในมืออยู่แล้วหากเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วหรือมีการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติ รวมทั้งได้เตรียมศึกษามาตรการใหม่ๆ เพื่อจะนำมาใช้ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในอนาคต

คล้อยหลังไปเพียงไม่กี่วันก็ได้เห็น ธปท.นำเครื่องมือแรกออกมาใช้ลดการแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาท นั่นคือ การปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นในเดือน ก.ค.62 โดยวงเงินการออกพันธบัตร ธปท.ระยะสั้น 3 เดือน และพันธบัตรระยะ 6 เดือน ลดลงประเภทละ 5,000 ล้านบาทต่อสัปดาห์ ขณะที่พันธบัตรอายุ 1 ปี ลดลง 10,000 ล้านบาทในเดือน ก.ค.62 ซึ่งการปรับลดในครั้งนี้ ไม่ได้มีการประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการเหมือนที่เคยทำเมื่อเดือน เม.ย.60

การปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นในรอบนี้ ธปท.อ้างเหตุผลว่าเป็นเพียงการพิจารณาปรับเพิ่มหรือลดวงเงินประมูลตามความเหมาะสมของปริมาณสภาพคล่อง และความต้องการของตลาดในแต่ละเดือนเท่านั้น อีกทั้งเป็นการชะลอการออกพันธบัตร ธปท. หลังจากที่กระทรวงการคลังจะออกพันธบัตรในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

"การปรับลดวงเงินการออกพันธบัตร ธปท.ในเดือน ก.ค.นี้ จึงไม่เกี่ยวกับการใช้เป็นเครื่องมือชะลอการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศที่จะเข้ามาพักในตลาดเงินและตลาดทุนของไทย เพื่อต้องการทำให้เงินบาทปรับอ่อนค่าลงบ้างจากที่แข็งค่าขึ้นไปมาก" นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.ระบุ

อย่างไรก็ตาม ตลาดกลับมองว่าการที่ ธปท.นำมาตรการนี้ออกมาใช้เป็นช่วงจังหวะเดียวกันกับแรงหนุนจากภายนอกที่ทำให้เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปีที่ 30.52 บาท/ดอลลาร์ ณ วันที่ 1 ก.ค.62 ยิ่งกระตุ้นให้ตลาดมีความระมัดระวังและรอติดตามสัญญาณที่อาจบ่งชี้ว่า ธปท.เตรียมที่จะออกมาตรการมาดูแลความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างเข้มข้นขึ้น เพราะเมื่อต้นปี 2560 ธปท.ได้เคยลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นมาแล้ว โดยหวังให้เป็นเครื่องมือช่วยชะลอกระแสเงินทุนไหลเข้า และลดแรงจูงใจไม่ให้นักลงทุนต่างชาติใช้พันธบัตรระยะสั้นของไทยเป็นที่พักเงิน เพราะเงินบาทมักถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย (safe haven)

"ในเบื้องต้น มองว่าการปรับลดวงเงินการออกพันธบัตร ธปท.ระยะสั้น อาจเป็นหนึ่งในการดำเนินการในชั้นแรกเพื่อดูแลประเด็นค่าเงินบาท ขณะที่คาดว่า ธปท.น่าจะติดตามทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้น และผลกระทบต่อทิศทางเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินความจำเป็นของการออกมาตรการที่มีความเหมาะสมต่อไปในระยะข้างหน้า" ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์

*แบงก์พาณิชย์ไทย-ตปท. มองบาทมีโอกาสหลุด 30 บาท/ดอลลาร์

นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มองว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง จากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เพราะยังมีความไม่แน่นอนของสงครามการค้า แม้ว่าจะมีการเจรจาตกลงกันเพื่อสงบศึกชั่วคราวระหว่างสหรัฐและจีนในการประชุม G20 ครั้งที่เพิ่งผ่านมา อีกทั้งการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในช่วงการประชุมเดือนก.ค., ก.ย. และต้นปี 63 ส่งผลต่อกระแสเงินทุนที่ยังไหลเข้ามาต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อได้

พร้อมมองว่า เงินบาทมีโอกาสจะแข็งค่าหลุดระดับ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐได้ หากที่ประชุมเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตามที่คาดการณ์ไว้จากผลการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะในอาเซียนที่นักลงทุนมองว่าเป็นตลาดเกิดใหม่ และเป็นแหล่งพักเงินที่มีความปลอดภัย

"การที่จะช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมา และกลับสู่จุดสมดุลได้นั้น ควรที่จะใช้นโยบายการคลังเข้ามาช่วยในช่วงนี้ จากการลงทุนโครงการต่างๆ ของภาครัฐให้เพิ่มขึ้น ทำให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณออกมา และมีการนำเข้าอุปกรณ์และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่มากเกินไป เพื่อช่วยให้เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงได้" นายตรรกระบุ

นอกจากนี้ นักกลยุทธ์เศรษฐกิจมหภาค จากธนาคารลอมลาร์ด โอเดียร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ยังให้มุมมองในทิศทางเดียวกันว่า เงินบาทมีโอกาสจะแข็งค่าหลุด 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐได้ และช่วงปลายปีอาจจะแข็งค่าขึ้นอีก 2-3% โดยลงไปอยู่ที่ระดับ 29.89-29.59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจาก Fed จะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 2 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งการลดดอกเบี้ยดังกล่าว จะยิ่งทำให้มีเงินไหลเข้าไปลงทุนในตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย ทั้งในส่วนของตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากผลตอบแทนในตลาดสหรัฐฯ ลดลง ทำให้นักลงทุนเริ่มแสวงหาผลตอบแทนในตลาดอื่นที่มากกว่า ประกอบกับไทยเองยังเป็น safe haven ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ

*บาทแข็งจากเงินร้อนเข้ามาเก็งกำไร ไม่ใช่พื้นฐานเศรษฐกิจไทยดี

ขณะที่นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะเศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) มองว่าเงินบาทที่แข็งค่าไม่ใช่เป็นผลจากเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยดี แต่เป็นเงินร้อนที่ไหลเข้ามาพักในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ ซึ่งน่าจะเป็นเพียงสถานการณ์ระยะสั้นเท่านั้น เมื่อถึงจุดหนึ่งนักลงทุนก็จะต้องขายทำกำไร และเห็นว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เงินบาทไม่น่าจะแข็งค่าไปมากกว่าระดับ 30.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐได้แล้ว โดยแนวโน้มตะเริ่มปรับทิศทางเป็นอ่อนค่าและไปอยู่ที่ระดับ 31.50 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นปี 62

"ที่บาทแข็งตอนนี้เพราะเงินร้อนอย่างเดียว ไม่ใช่แข็งเพราะปัจจัยพื้นฐานเราดี ไม่ใช่ท่องเที่ยวดี ไม่ใช่ส่งออกดี หรือมีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สูง เพราะหากดูตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเดือนมิ.ย.ชะลอตัวลง -4% ไม่ใช่รายได้หายไปหมดแต่รายได้มันไม่โต FDI ต่างชาติก็ยังไม่ลงทุน เพราะรอให้การเมืองนิ่ง การส่งออกก็ยังติดลบ การเกินดุลการค้าก็น้อยลง ดังนั้นที่บาทแข็งตอนนี้คือมาจากเงินร้อนอย่างเดียวที่เข้ามาในตลาดพันธบัตรระยะสั้น หรือตลาดหุ้น เชื่อว่าสถานการณ์แบบนี้จะเป็นเพียงแค่ชั่วคราว หากมีมาตรการดูแลก็น่าจะหยุดการแข็งค่าของเงินบาทได้" นายนริศระบุ

พร้อมมองว่า แนวทางการปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นของ ธปท.ในการดูแลเงินบาทช่วงที่ตลาดวิตกกังวลต่อการแข็งค่าสูงสุดในรอบ 6 ปีนั้นถือว่าถูกต้องแล้ว เพราะหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันถัดมา เม็ดเงินที่เคยเข้ามาในพันธบัตรระยะสั้นก็เริ่มลดลง มีผลให้หยุดการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้ถึงกับขนาดทำให้อ่อนค่ารวดเร็วนัก ดังจะเห็นได้จากปัจจุบันที่เงินบาทเริ่มไต่ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 30.70-30.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐแล้ว โดยหลังจากนี้ ธปท.คงต้อง Wait & See แต่หากเงินบาทกลับมาแข็งค่าอีก อาจต้องมีมาตรการอื่นๆ นำออกมาใช้

"เงินร้อนตอนนี้เป็นแค่ชั่วคราว คงไม่ได้เข้ามาต่อเนื่องทุกเดือน ตอนนี้ในตลาดเงิน THAIBAHT ถือว่า Overbought มาก trader ต้องการทำกำไรขายออกมา ดังนั้นจะมี flow ที่ collect ตลอดเวลา และปัจจัยพื้นฐานเราไม่ได้แข็งแกร่งมากขนาดนั้น ไม่เกินดุลการค้ามาก ท่องเที่ยวก็ไม่ได้บูมมากกว่าปีก่อน เดี๋ยวมัน (เงินร้อน) ก็ drop ไป...การลดวงเงินพันธบัตรระยะสั้นของ ธปท.เริ่มเห็นผล พอหลังจากวันที่ลด เงินที่เข้ามาตัวสั้นก็ลดลงไป มีผลหยุดการแข็งค่าได้ แต่คงไม่ได้มีผลถึงขนาดทำให้บาทอ่อน อย่างตอนนี้ไม่ลงไปถึง 30.50 แต่เริ่มกลับขึ้นมาแล้ว แสดงว่ามาตรการก็ส่งผลพอสมควร" นายนริศระบุ

อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้า เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน เกาหลีใต้แล้ว พบว่าเงินบาทแข็งค่ามากสุดในรอบ 10 ปี โดย Sector ที่ได้รับผลกระทบบาทแข็งมากที่สุด คือ ภาคการท่องเที่ยว รองลงมาคือ ภาคการส่งออก และภาคประชาชนที่ไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศ (FIF) มองว่าภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากสุดเนื่องจากรายได้จากการท่องเที่ยวสุทธิสูงกว่ารายได้จากการส่งออกสุทธิถึง 3 เท่า โดยปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 12% เมื่อเทียบกับเงินหยวน จึงทำให้นักท่องเที่ยวจีนเริ่มเปลี่ยนแผนการเดินทางไปยังประเทศที่มีค่าเงินอ่อนกว่า ซึ่งเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยเดือน มิ.ย.ลดลงไป 4%

"ตอนนี้บาทแข็งขึ้น 12% เมื่อเทียบกับเงินหยวน ดังนั้นหากเป็นคนจีนคงคิดหนักว่าจะมาไทยไหม อาจจะไปบาหลีแทนดีกว่า ภาคท่องเที่ยวเป็นเม็ดเงินที่กระจายตัว ไม่ได้ยึดกับบริษัทใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่ยังให้รายได้กับ SME ด้วย ถ้าเทียบกับภาคส่งออกสินค้า พบว่า 90% ของมูลค่าการส่งออกสินค้ามาจากบริษัทใหญ่ๆ ดังนั้นการกระจายตัวในเชิงรายได้ต่ำกว่า ซึ่งถามว่าถ้า sector ไหนโดนกระทบแล้วส่งผลต่อเศรษฐกิจในวงกว้างมากกว่า คือ ภาคการท่องเที่ยว" นายนริศ ระบุ

*นักวิเคราะห์มองแนวโน้มบาทครึ่งปีหลังยังแข็งค่าต่อ

ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า แรงกดดันของการแข็งค่าของเงินบาทจะยังมีอยู่ต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยมองว่าแม้เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการหดตัวของภาคส่งออก และการชะลอตัวของการท่องเที่ยว แต่การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ซึ่งจะยังทำให้สถานการณ์เป็น regional safe haven ของเงินบาทยังคงมีอยู่ต่อ

ประกอบกับสัญญาณการลดดอกเบี้ยนโยบายจาก Fed และธนาคารกลางอื่น ๆ ในภูมิภาค จะทำให้เงินบาทยังต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านแข็งค่าอยู่ต่อไป ทั้งนี้คาดว่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2562 จะแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 30-31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มจะแข็งค่าได้มากกว่าระดับปัจจุบัน และอาจจะหลุดระดับ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐได้ หากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศนิ่ง ได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มีภาพลักษณ์ดี มีความรู้ความสามารถเป็นที่เชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เริ่มมีการลงทุนโครงการใหม่ๆ เพิ่มขึ้น หลังจากที่ชะลอการลงทุนไประยะใหญ่จากความไม่มั่นใจในนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

พร้อมแนะว่า การที่ ธปท.จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยลงนั้น น่าจะสามารถทำได้ในช่วงนี้ที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ และยังเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทาง ซึ่งแม้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะไม่ได้มีเป้าหมายหลักโดยตรงเพื่อลดการแข็งค่าของเงินบาทก็ตาม แต่ก็น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถนำไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของ กนง.ในการประชุมรอบหน้าได้

ขณะที่ภาคเอกชน โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีความกังวลอย่างมากต่อสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า เนื่องจากทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าของไทยไม่สามารถสู้กับคู่แข่งในด้านราคาได้ เพราะค่าเงินแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งไปค่อนข้างมาก พร้อมมองว่าหากหน่วยงานกำกับดูแลไม่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน ก็จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจมากขึ้นไปกว่าเดิม โดย กกร.เตรียมเข้าหารือกับผู้ว่าการ ธปท.ด้วยความคาดหวังว่าจะมีมาตรการดูแลค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับทิศทางค่าเงินในภูมิภาค และเห็นว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรอยู่ที่ระดับ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

*ธปท.งัดยาแรงสกัดเก็งกำไรค่าเงินบาท

และหลังจากที่ ธปท.ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และมีความกังวลกับค่าเงินบาทที่ปรับแข็งค่าขึ้นเร็วและแข็งค่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินภูมิภาค จนอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม โดยล่าสุดวันนี้ ธปท.จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท เพื่อลดทอนช่องทางในการเก็งกำไรค่าเงินบาท และเพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ เพื่อติดตามพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอย่างใกล้ชิด

1) การปรับหลักเกณฑ์มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ในส่วนของยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (non-resident : NR) ทั้ง Non-resident Baht Account for Securities (NRBS) และบัญชี Non-resident Baht Account (NRBA) ให้เข้มขึ้น โดยยอดคงค้าง ณ สิ้นวันของบัญชี NRBS และ NRBA ต้องลดลงจากเดิมกำหนดไว้ที่ 300 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาทต่อราย NR ต่อประเภทบัญชี โดยกำหนดให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค.62 เป็นต้นไป

และ 2) การยกระดับการรายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติให้ลึกขึ้นถึงระดับชื่อของผู้ได้รับผลประโยชน์แท้จริง (Ultimate Beneficiary Owners) เพื่อติดตามพฤติกรรมการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะเพื่อใช้เป็นที่พักเงินระยะสั้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์แนวโน้มและกำหนดนโยบายหรือมาตรการเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในระยะต่อไป กำหนดเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่งวดการรายงานข้อมูลเดือน ก.ค.62 เป็นต้นไป

"ธปท. จะติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินมาตรการที่เตรียมไว้เพิ่มเติม หากยังพบพฤติกรรมการเก็งกำไรค่าเงินบาทในระยะต่อไป" น.ส.วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท.ระบุ

การที่ ธปท.ใช้ยาแรงด้วยการปรับปรุงหลักเกณฑ์มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท และเพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติในครั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นผลจากชั่งน้ำหนักอย่างรอบด้านและได้พิจารณาในทุกมิติแล้ว เพราะการแข็งค่าหรืออ่อนค่าของเงินบาท ย่อมมีผลกระทบโดยตรงทั้งแง่บวกและแง่ลบกับหลายภาคส่วน ทั้งกับต่อผู้ส่งออก ผู้นำเข้า นักลงทุน และผู้ที่กู้เงินตราต่างประเทศ ซึ่งต้องติดตามว่าการแก้โจทย่ใหญ่ของแบงก์ชาติในครั้งนี้ จะประสบผลสำเร็จทำให้เงินบาททยอยลดการแข็งค่าลงอย่างที่คาดหวังไว้หรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ