ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกปีนี้ไม่โต ติดตามผลกระทบ H2/62 บาทแข็ง-ภัยแล้ง-สงครามการค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 22, 2019 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การส่งออกสินค้าไทยในเดือน มิ.ย.62 มีมูลค่าอยู่ที่ 21,409.3 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัว 2.15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 (ตั้งแต่เดือนมี.ค.62 เป็นต้นมา) อย่างไรก็ตาม การส่งออกในเดือนมิ.ย. หดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วง 3 เดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวสูงถึง 317.4% ในเดือน มิ.ย.ซึ่งเมื่อหักมูลค่าส่งออกทองคำแล้ว ภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยหดตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ -8.7% โดยเป็นการหดตัวในการส่งออกสินค้าหลักไปยังตลาดคู่ค้าหลักทุกตลาด

ดังนั้น จึงส่งผลให้การส่งออกสินค้าไทยในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 2562 มีมูลค่ารวม 122,970.7 ล้านดอลลาร์ หดตัว 2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 61 หรือเฉลี่ยส่งออกต่อเดือนอยู่ที่ 20,495 ล้านดอลลาร์ โดยสาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่ทำให้ปริมาณการค้าโลกลดลงหลังมีการขยับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันในเดือนพ.ค.

อย่างไรก็ดี เมื่อมองไปในช่วงครึ่งหลัง (ก.ค.-ธ.ค.) ของปี 62 บรรยากาศการค้าโลกแม้ว่าจะไม่ได้ดีขึ้น หลังสหรัฐฯ และจีนกลับเข้าสู่เส้นทางการเจรจาอีกครั้ง แต่สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศจะไม่แย่ลงไปกว่าช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากทางการสหรัฐฯ มีความระมัดระวังในการดำเนินมาตรการทางการค้าต่างๆ มากขึ้น นอกจากนี้ ประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างจีนและสหรัฐฯ ก็คาดว่าจะมีมาตรการทางการเงินออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งก็น่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกได้ด้วยในระดับหนึ่ง และเมื่อประกอบกับผลของฐานในบางเดือนที่ต่ำในช่วงครึ่งหลังของปีก่อนด้วยแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงประมาณการส่งออกสินค้าไทยตลอดทั้งปี 2562 ที่ 0.0%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามซึ่งอาจจะกระทบต่อเส้นทางการส่งออกสินค้าไทยในช่วงที่เหลือของปี 62 ได้ ไม่ว่าจะเป็นทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน สภาพภูมิอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตร รวมไปถึงความไม่แน่นอนในเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในระยะข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ