LINE ยอมปรับราคา LINE Official Account ลงกว่าครึ่ง พร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่หวังขยายฐานผู้ใช้งาน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 25, 2019 18:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ Line ประเทศไทย เปิดเผยว่า LINE ได้รวบรวมผลกระทบจากผู้ใช้งาน LINE Official Account (OA)จากการคิดอัตราค่าบริการใหม่มาตั้งแต่เดือน เม.ย. 62 ที่ผ่านมา เพื่อให้การคิดอัตราค่าบริการเหมาะสมกับตลาดของประเทศไทย

ทั้งนี้ LINE ประกาศปรับราคาใหม่สำหรับผู้ใช้งาน LINE Official Account จากเดิมที่มีการปรับแพ็คเก็จสำหรับเอสเอ็มอีคิดอัตราใหม่ที่ 20 สตางค์/ข้อความ มาเป็นแพ็คเกจ Basic คิดค่าบริการต่อเดือน 1,200 บาท ส่งข้อความได้ 1.5 หมื่นข้อความ หรืออัตราค่าบริการ 8 สตางค์/ข้อความเท่านั้น ส่วนแพ็คเกจโปร หรือลูกค้าคอร์ปอเรท คิดอัตราต่อเดือน 1,500 บาท ส่งได้ 3.5 หมื่นข้อความ หรืออัตราค่าบริการ 4 สตางค์/ข้อความ ลดลงจากเดิมที่คิดค่าบริการ 10 สตางค์/ข้อความ

และสำหรับลูกค้าองค์กรที่มี account เกิน 1 ล้านคนขึ้นไป จะได้รับการคิดค่าบริการแค่ 1 สตางค์/ข้อความเท่านั้น ซึ่งการคิดค่าบริการอัตราใหม่จะเริ่มเดือน ส.ค. 62 นี้ นอกจากนี้ยังจะให้ฟรีข้อความสำหรับผู้เริ่มต้น คือจากเดิม 500 ข้อความ เป็น 1,000 ข้อความ

"การปรับราคา เราดูจากข้อมูลโดยเฉลี่ยของ LINE Official Account คนที่ต้องการส่งถี่ๆ เขาก็อยากลดลง ซึ่งเดิมเราให้เท่าไรก็ได้ Unlimited พอเรา redesign ก็คิดเป็น ข้อความ ส่งเท่าไรก็คิดเท่านั้น ก็ส่งผลกระทบต่อลูกค้ารายใหญ่ ราคาที่ปรับใหม่เป็นราคาที่เราคิดว่าสมเหตุสมผล"

ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน LINE Official Account สูงถึง 3 ล้านราย โดยมี 1.3 ล้านรายอยู่ในกลุ่มรีเทล และ 1.8 แสนรายอยู่ในกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร

นายนรสิทธ์ กล่าวว่า LINE ยังได้เปิดแพ็คเกจ LINE IDOL เป็นช่องทางสื่อสารกับศิลปิน ดารา คนดัง และบล็อกเกอร์ รวมทั้งเพิ่มหมวดหมู่สื่อสารมวลชน และ sports ซึ่งจะมีการคิดค่าบริการในอัตราที่แยกจากลูกค้าคอร์ปอเรท เพื่อให้ข่าวสารเข้าไปถึงสาธารณชน

นางสาวอึนจอง ลี รองประธานาอาวุโสฝ่ายบริหารธุรกิจระดับโลก LINE คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า LINE ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ "Life on LINE" ที่จะเป็น "โครงสร้างพื้นฐานชีวิต" สำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันของทุกคน" โดยแนวคิดของ Life on LINE จะครอบคลุมถึงการให้บริการที่ทุกคนต้องการในชีวิตประจำวันตั้งแต่การตื่นนอนตอนเช้า การอ่านข่าวผ่าน LINE หรือการจองร้านทำผมผ่าน LINE Official Account ระหว่างการเดินทางไปทำงาน หรือการจ่ายค่าโดยสารรถประจำทาง รถไฟฟ้าผ่าน Rabbit Line Pay ซึ่งแพลตฟอร์มทั้งหมดนี้จะช่วยทำให้ชีวิตง่ายขึ้นและสะดวกมากยิ่งขึ้น

โดยมี 3 กลยุทธ์สำคัญที่ตอบสนองความต้องการผู้ใช้งานได้มากขึ้น ได้แก่ 1)OMO (online-merge-offline การรวมกันของออนไลน์กับออฟไลน์) - คล้ายกับ O2O แต่เป็นการรวมที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ และเพื่อให้ OMO เข้ามาช่วยธุรกิจไทยได้อย่างแท้จริง LINE จึงได้เปิดตัว LINE Mini App ระบบที่จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงและใช้บริการเต็มรูปแบบจากแบรนด์หรือธุรกิจต่างๆ ผ่าน LINE ได้ โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องออกจาก LINE และแบรนด์เองก็ยังคงรูปแบบบริการของตนเองได้ตามที่ต้องการ

2) Fintech ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด ควบคู่กับการนำเสนอนวัตกรรมทางการธนาคาร ซึ่งที่ผ่านมา LINE ได้ดำเนินธุรกิจ Rabbit LINE Pay และได้ร่วมมือกับ KBANK เพื่อปฏิวัติการบริการทางการเงิน ภายใต้องค์กรความร่วมมือใหม่ในนาม KASIKORN LINE

Fintech ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ LINE ให้ความสนใจไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่ยังรวมไปถึงในประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และอินโดนีเซีย ซึ่งสำหรับรูปแบบการให้บริการ Fintech จาก LINE ได้วางแผนที่จะขยายบริการไปสู่บริการทางบัญชีและเงินกู้ รวมถึงการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะท้าทายแพลตฟอร์มการเงินแบบที่เคยมีมา

และ 3) AI - LINE จะยังคงเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีด้าน AI ขั้นสูงเพื่อนำไปใช้ในการบริการที่หลากหลาย ตัวอย่างเช่น การนำ AI มาช่วยในฟีเจอร์สำหรับการแนะนำบริการแบบเฉพาะบุคคลในการค้นหาการใช้บริการ LINE TV, Sticker Shop, โฆษณา และอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์ใหม่ล่าสุด Smart Channel ที่เรียนรู้จากพฤติกรรมความสนใจของผู้ใช้ไปสู่การนำเสนอข้อมูลที่ตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยี Optical Character Recognition (OCR) ซึ่งจะช่วยในการค้นหาตัวอักษรหรือข้อความที่อยู่ในภาพถ่ายและสามารถระบุประเภทของตัวอักษรได้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ร่วมกับการแปลภาษาต่างประเทศได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันคนไทยนิยมใช้บริการ OCR ใน LINE เป็นอย่างมาก

"ฟีเจอร์ทั้งหมดนี้ ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI ของ LINE ที่เราเรียนรู้และทำการวิเคราะห์จากพฤติกรรมของผู้ใช้งานแบบเฉพาะตัวที่มีความแตกต่างกัน เพื่อตอบสนองความต้องการให้ตรงตามความต้องการของแต่ละบุคคลมากขึ้น"

ล่าสุด LINE เพิ่งเปิดตัว ‘Smart Channel’ ซึ่งเป็นพื้นที่โฆษณาที่อยู่ด้านบนของหน้า Chat List เพื่อให้นักการตลาดสามารถส่งข้อความโฆษณาที่ตรงกลุ่มเป้าหมายในเวลาที่เหมาะสม หรือผู้ใช้งานจะได้รับข้อความโฆษณาที่ตรงกับความสนใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิประจำวันในแต่ละโลเคชั่น ข่าวสำคัญ ข้อมูลที่น่าสนใจต่างๆ ตามความสนใจของผู้ใช้งาน LINE ทุกคน

สำหรับประเทศไทย LINE ได้ปรับกลยุทธ์ดังกล่าวให้เหมาะสมและตอบโจทย์คนไทยมากที่สุดผ่านการให้บริการและผลิตภัณฑ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อคนไทยโดยเฉพาะ ซึ่งนอกเหนือจากการมุ่งมั่นขยายการบริการสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด คือ การสร้างแพลตฟอร์มที่ปลอดภัยเป็นส่วนตัวสำหรับผู้ใช้งานทุกคน ควบคู่กับความสะดวกสบายในการใช้งาน

ทั้งนี้ กว่า 6 ปีที่ LINE ได้เข้ามาในตลาดประเทศไทย LINE ถือเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยปัจจุบัน LINE มีผู้ใช้งานกว่า 44 ล้านคน หรือประมาณ 78% ของจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตผ่านมือถือทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน นอกเหนือจากการเป็นแอปพลิเคชั่นการสื่อสารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแล้ว แพลตฟอร์มนี้ยังมีบริการที่ครอบคลุมและครบวงจร อาทิ LINE PLAY, LINE TODAY, LINE MAN, LINE JOBS รวมถึงบริการยอดนิยม อาทิ LINE Stickers, Rabbit LINE Pay และ LINE Biz-Solution

นายพิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) LINE ประเทศไทย ได้เปิดเผยถึงผลิตภัณฑ์และฟีเจอร์ใหม่ที่จะมีการเปิดตัวภายในปี 62 นี้ ได้แก่ LINE Shopping บริการรูปแบบใหม่ในการรวมแหล่งออนไลน์ช้อปปิ้งไว้ในที่เดียว เพื่อแก้ pain point ของลูกค้าในการตามหาข้อมูลที่มีมากจนเกินไป และช่วยให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมด้วยฟีเจอร์สำคัญมากมาย อาทิ โปรโมชั่น, คะแนนสะสม, การตั้งรายการสินค้าที่ต้องการซื้อ (wish list), การแจ้งเตือนเมื่อสินค้านั้นๆ ราคาลดลง และฟีเจอร์อื่นๆ ที่จะตามมาอีกมากมายในอนาคต

LINE MAN ได้ชื่อว่าเป็นผู้ช่วยอันดับหนึ่งของคนกรุงเทพฯ ได้ประกาศแผนการรุกขยายการบริการให้ครอบคลุมพื้นที่หัวเมืองใหญ่ของประเทศไทยภายในปี 63 ซึ่ง LINE MAN เป็นพันธมิตรกับยักษ์ใหญ่อย่าง Wongnai และ Lalamove เพื่อที่จะพัฒนาการบริการที่ดียิ่งขึ้น และบริการดังกล่าวยังได้เปิดตัวโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการลดการใช้พลาสติกอีกด้วย

ในการเติบโตของ LINE MAN มีปัจจัยสำคัญจากการมีพันธมิตรที่เป็นผู้นำอย่าง Wongnai ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจที่มีร้านอาหารในเครือข่ายรวมกว่า 50,000 ร้าน ซึ่งส่งผลให้ LINE MAN เป็นแอปพลิเคชั่นเดียวที่ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดในกรุงเทพ รวมถึงอีกพันธมิตรสำคัญคือผู้บริการโลจิสติกส์ชั้นนำอย่าง lalamove ที่ได้มีการเพิ่มจำนวนยานพาหนะในการให้บริการสูงถึง50% ในแต่ละปี

LINE MAN Grocery จะเป็นบริการใหม่ที่จะเป็นคำตอบของผู้คนในยุคสมัยปัจจุบันที่ทุกคนจะสามารถซื้อสินค้าได้โดยไม่ต้องไปซุปเปอร์มาร์เก็ตเพื่อเป้าหมายในการประหยัดเวลาที่ต้องเสียไปกับการเดินทาง

และ LINE MELODY ย้อนกลับไปในยุค 90 เสียงรอสายได้รับความนิยมมาก ซึ่งปัจจุบันนี้ LINE Call ถืออีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ผู้ใช้นิยมใช้งานอย่างมากซึ่งด้วยฟีเจอร์นี้ผู้ใช้งานจะสามารถนำเอาเพลงยอดนิยมมาใช้เป็นเมโลดี้หรือริงค์โทนได้ ซึ่งวันนี้เราพบว่าผู้ใช้ LINE นิยมใช้ LINE Call ทดแทนการกดเบอร์โทรศัพท์โทรหากันแบบเดิมๆ ซึ่งสำหรับพันธมิตรด้านเพลงนั้นจะมีการเปิดเผยอีกครั้งในเร็วๆ นี้

นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า แม้ LINE จะเปิดดำเนินการมากว่า 6 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันผลประกอบการยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน และมองว่าวันนี้ยังไม่ใช้เวลาเหมาะสมที่จะเน้นทำรายได้ แต่ขณะนี้เรากำลังมุ่งเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และขยายฐานผู้ใช้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ