(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าไทย ปรับคาดการณ์ส่งออกไทยปีนี้หดตัว -0.64% ติดลบครั้งแรกรอบ 4 ปี มอง H2/62 ยังมีปัจจัยเสี่ยงเพียบ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 30, 2019 12:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่าปีนี้การส่งออกของไทยจะมีมูลค่า 251,338 ล้านดอลลาร์ หดตัว -0.64% ซึ่งถือว่าเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 4 ปี

อย่างไรก็ดี หากจะให้การส่งออกในปีนี้ไม่ติดลบหรือเติบโตในระดับ 0% นั้นจะต้องทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยที่เหลือแต่ละเดือนมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 21,664 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 2.9% ต่อเดือน

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการส่งออกไทยในครึ่งปีหลัง ได้แก่ ทิศทางเศรษฐกิจโลกปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลง, สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังมีแนวโน้มยืดเยื้อ, เงินบาทในปีนี้มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง, ธนาคารกลางสหรัฐมีแนวโน้มจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย, ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และตลาดจีนลดการนำเข้าสินค้าจากโลกและไทย

"ทั้ง World Bank, OECD, IMF ได้ปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2562 ลดลง เนื่องจากมองว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวแน่ๆ ความรุนแรงของผลกระทบทางเศรษฐกิจโลกต่อการค้าจะยังคงอยู่ในปี 2563 และ 2564 เพราะฉะนั้นความยืดเยื้อของสงครามการค้ายังคงทอดยาวไปอีก 2 ปี" นายอัทธ์ ระบุ

ผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวต่อว่า นอกจากปัจจัยเสี่ยงแล้วยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามด้วยเช่นกัน ซึ่งได้แก่ การทำข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ซึ่งหากมีผลบังคับใช้ทันในครึ่งหลังของปีนี้ จะส่งผลกระทบให้การส่งออกของไทยลดลง 680 ล้านดอลลาร์ หรือส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในครึ่งปีหลังประมาณ 0.5% หรือกระทบต่อการส่งออกทั้งปีประมาณ 0.3% โดยสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหภาพยุโรป (EU) ที่ได้รับผลกระทบมากสุด คือ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย รองลงมา คือ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เนื่องจากเป็นสินค้าประเภทเดียวกันกับที่เวียดนามส่งเข้าไปจำหน่ายใน EU ซึ่งหากมีการทำ EVFTA ได้สำเร็จก็จะทำให้สินค้าเวียดนามมีความได้เปรียบทางภาษีกว่าสินค้าจากไทย

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามอื่นๆ ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ที่อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT), ข้อพิพาทระหว่างญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ รวมทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศ

นายอัทธ์ กล่าวว่า จากกรณีสงครามการค้าที่อาจยืดเยื้อนั้น สหรัฐยังมีเป้าหมายที่จะเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าของจีนอีก 325,000 ล้านดอลลาร์ และจีนอาจจะมีการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอีก 60,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากทั้งสองประเทศไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ และมีการเก็บภาษีตามเป้าหมายที่วางไว้จริง สงครามการค้าจะมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบให้การส่งออกไทยในปีนี้ลดลงไปอีก 2% หรือเท่ากับหดตัว -2.6%

สำหรับเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ และธนาคารกลางของหลายประเทศที่มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ส่งผลให้ค่าเงินบาทและค่าเงินสกุลอื่นๆ ในอาเซียนแข็งค่าขึ้นจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ ตลอดจนผลกระทบจากการปรับตัวของนักลงทุนจากสงครามการค้าโลก และความไม่มีเสถียรภาพของเศรษฐกิจในยุโรป โดยประเมินว่าในปีนี้เงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 30-31 บาท/ดอลลาร์

"ในช่วงครึ่งปีแรก เงินบาทแข็งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 31.60 บาท/ดอลลาร์ ทิศทางครึ่งปีหลังคงต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของเฟดว่าจะลดดอกเบี้ยหรือไม่ ถ้าลดลงอีก โอกาสที่อัตราแลกเปลี่ยนของไทยจะแข็งค่าขึ้นอีก ก็จะมีมากขึ้น" นายอัทธ์ระบุ

ทั้งนี้ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุก 1 บาท จะทำให้การส่งออกของไทยในรูปของเงินบาทลดลง 0.6 - 1.5% โดยหากเงินบาทอยู่ที่ระดับ 31 บาท/ดอลลาร์ มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทจะลดลง 0.6% คิดเป็น 15,530 ล้านบาท แต่หากเงินบาทอยู่ที่ระดับ 30 บาท/ดอลลาร์ มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทจะลดลง 1.0% คิดเป็น 27,381 ล้านบาท และหากเงินบาทอยู่ที่ระดับ 29 บาท/ดอลลาร์ มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทจะลดลง 1.5% คิดเป็น 39,232 ล้านบาท ซึ่งสินค้าส่งออกของไทยที่จะได้รับผลกระทบในลำดับต้นๆ คือ ยานยนต์ รองลงมา คือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกปีนี้ยังมีความผวน โดยประเมินว่าจะอยู่ในช่วง 50-70 ดอลลาร์/บาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาน้ำมัน ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก, ความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศ เป็นผู้ใช้น้ำมันอันดับ 1 และ 2 ของโลก ซึ่งอาจส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงได้, ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-อิหร่าน อังกฤษ-อิหร่าน ส่งผลต่อราคาและอุปทานน้ำมันดิบที่อาจเป็นแรงผลักดันให้ OPEC บางประเทศลดกำลังการผลิตน้ำมันลง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากการตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันโลกด้วย

นายอัทธ์ กล่าวด้วยว่า จากนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่มีแผนจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน จะมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ราคาสินค้า และมูลค่าการส่งออกของไทยด้วย โดยค่าจ้างที่เปลี่ยนแปลงไปทุก 1% จะส่งผลให้การส่งออกลดลง 0.06% นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน เท่ากับการปรับขึ้นค่าจ้างเพิ่มประมาณ 30% ซึ่งส่งผลกระทบให้การส่งออกลดลงไปประมาณ 1.8% คิดเป็นมูลค่า 4,524 ล้านดอลลาร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ