(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือนก.ค.ขยายตัว 0.98% จากตลาดคาดราว 1%, CORE CPI ขยายตัว 0.41%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 1, 2019 12:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือนก.ค. อยู่ที่ 103.00 ขยายตัว 0.98% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ตลาดคาดราว 1%) และขยายตัว 0.06% จากเดือนมิ.ย.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) ขยายตัวเฉลี่ย 0.92%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (CORE CPI) เดือนก.ค. อยู่ที่ 102.52 ขยายตัว 0.41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และแต่ลดลง -0.03% จากเดือนมิ.ย.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) ขยายตัวเฉลี่ย 0.55%

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 105.21 เพิ่มขึ้น 3.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.01% จากเดือนมิ.ย.62 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 101.76 หดตัว -0.42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 0.08% จากเดือนมิ.ย.62

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนก.ค.62 สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.98% และเป็นการสูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนมิ.ย.62 ทั้งนี้ สินค้ากลุ่มอาหารสดยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนมากกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับราคาฐานที่ต่ำในปีก่อน ขณะที่ปัจจัยกดดันเงินเฟ้อมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งปรับลดลงตามสถานการณ์ในตลาดโลก และส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง สะท้อนจากดัชนีราคาผู้ผลิตที่ปรับลดลง นอกจากนี้ การสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในเดือนก.ค.นี้ ยังสอดคล้องกับยอดการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการขายสินค้าและการนำเข้าสินค้าอุปโภค รวมถึงรายได้เกษตรกรที่สูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า สัญญาณจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) และการส่งออกที่ลดลง เป็นความกังวลว่าอาจจะส่งผลต่อรายได้และความต้องการในประเทศในระยะต่อไป แต่เมื่อพิจารณายอดการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการขายสินค้าและการนำเข้าสินค้าอุปโภคที่ยังขยายตัวได้ดี สะท้อนว่าความต้องการภายในประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่านโยบายของรัฐบาล จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตและมีเสถียรภาพ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศเคลื่อนไหวในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ ที่ระหว่าง 0.7-1.3% และเข้าสู่เป้าหมายนโยบายการเงินระยะปานกลางที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 1-4% ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า หากพิจารณาสถานการณ์เงินเฟ้อในภาพรวมแล้วถือว่ายังทรงตัว กล่าวคือไม่ได้ดีมากและไม่ได้แย่มาก แต่ยังไม่มีสัญญาณให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวเร็วหรือแรงขึ้นในระยะนี้ ดังนั้น จึงอยากเสนอให้รัฐบาลช่วยเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งเร่งรัดผลักดันการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมากขึ้น เนื่องจากพบว่าในระยะ 1-2 เดือนนี้ สินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลงตามไปด้วย รวมถึงการเร่งรัดดำเนินการช่วยเหลือภาคเกษตรตามที่รัฐบาลมีนโยบายประกันรายได้ไว้ "ที่เห็นว่าไปได้ช้า คือฝั่งผู้ผลิตกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่รายได้ลดลงไปเยอะ จนต้องมีการนำสินค้าออกมาลดแลกแจกแถม แต่ในฝั่งเกษตรกรรมดีขึ้นจากที่สินค้าเกษตรราคาดีขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เป็นเพราะ demand สูง แต่มาจาก supply น้อย จึงไม่ใช่รายได้ที่สูงขึ้นแบบยั่งยืน ถ้าจะยั่งยืนต้องขายของได้มากและราคาดี เศรษฐกิจถึงจะไปได้ดี" น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว นอกจากนี้ จากที่รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมมีนโยบายที่จะทบทวนโครงสร้างราคาขนส่ง กระทรวงพลังงานจะทบทวนแผนโครงสร้างราคาพลังงาน รวมถึงกระทรวงแรงงานที่จะทบทวนอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำนั้น ก็อยากให้ทั้งหมดนี้รัฐบาลทบทวนให้มีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ