ม.หอการค้า มองหากภัยแล้งยืดเยื้อเกิน 2 เดือนอาจเสียหายถึง 3.7 หมื่นลบ.เสี่ยงฉุด GDP ปีนี้โตเหลือแค่ 2.9%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 2, 2019 13:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยระบุว่าหากสถานการณ์ภัยแล้งยืดเยื้อ 1 เดือน คาดว่าผลผลิตข้าวนาปี ข้าวนาปรัง และสินค้าเกษตรอื่นๆ จะได้รับความเสียหายราว 18,000 ล้านบาท แต่หากสถานการณ์ภัยแล้งยืดเยื้อเกิน 2 เดือน จะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรราว 37,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้ลดลงอีก 0.2-0.3% จากเดิมที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินไว้ในกรอบ 3.2-3.5%

"หากภัยแล้งไม่สามารถคลี่คลายได้ภายในเดือน ก.ย.นี้ อาจจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรโดยรวมถึง 37,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้จีดีพีโตลดลง 0.2-0.3% จากที่เราคาดไว้ 3.2-3.5% ในปีนี้ ดังนั้นหากภัยแล้งไม่คลี่คลาย ก็มีโอกาสมากกว่า 50% ที่ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตไม่ถึง 3% อาจจะเหลือโตแค่ 2.9% และจะมีผลทำให้เศรษฐกิจซึมตัวลงเรื่อยๆ ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้ทั้งนโยบายการเงินควบคู่กับนโยบายการคลัง และดูแลเรื่องภัยแล้งจึงเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข" นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์ เปิดเผยผลสำรวจทัศนะของหน่วยงานต่างๆ ต่อสถานการณ์ภัยแล้งในปี 62 ซึ่งเป็นการสำรวจจากผู้แทนหน่วยงานด้านการเกษตร และผู้แทนหน่วยงานเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 109 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 26-31 ก.ค.62 โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 65.1% ตอบว่าจังหวัดที่ตัวเองอยู่ในปัจจุบันได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยธรรมชาติ ซึ่งผลกระทบจากภัยธรรมชาติส่วนใหญ่ คือ ภัยแล้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างอีก 34.9% ตอบว่าไม่ได้รับผลกระทบ

ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากสุด คือ ภาคเกษตรกรรม รองลงมา คือ ภาคการผลิต, ภาคการค้า และภาคบริการ ทั้งนี้ ผลกระทบจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นกับภาคเกษตรกรรม มาจากการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ผลผลิตน้อย ส่วนผลกระทบจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นกับภาคการผลิต คือทำให้ผลผลิตลดลง และวัตถุดิบที่นำมาผลิตไม่เพียงพอ ในขณะที่ผลกระทบจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นกับภาคการค้า คือ การค้าซบเซาตามปริมาณผลผลิตที่ลดลง ประชาชนไม่มีกำลังซื้อ และผลกระทบจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นกับภาคบริการ คือ นักท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยลดลง สภาพอากาศหรือภัยธรรมชาติมีผลต่อการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 31 ก.ค.62 ได้ประกาศยุติสถานการณ์ภัยแล้งใน 12 จังหวัดแล้ว คงเหลือเพียง 1 จังหวัด คือ มหาสารคาม ในอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ