"สมคิด" จี้รัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน-เสนอโครงการเพิ่มเติม หวังช่วยขับเคลื่อนศก.ในช่วงที่เหลือของปี 62

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 7, 2019 12:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง โดย สคร. ได้จัดประชุมเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ 19 แห่ง รวมถึงผู้บริหารบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ 5 แห่งที่มีวงเงินลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อรับนโยบายในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และจัดทำการลงทุนใหม่ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2562 ให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้รัฐวิสาหกิจและบริษัทในเครือ ผลักดันให้เกิดการเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน 2 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ เช่น ให้เร่งรัดตรวจรับงวดงานให้เร็วขึ้น และเร่งรัดงวดงานที่ทำได้ทันทีให้ดำเนินการเร็วขึ้น รวมทั้งให้รัฐวิสาหกิจเร่งจัดทำโครงการลงทุนเพิ่ม

โดยสำหรับรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน ให้พิจารณาเสนอโครงการลงทุนที่มีความพร้อมและมาดำเนินการในปี 2562 และสำหรับรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ ให้พิจารณาปรับเพิ่มกรอบงบลงทุนปี 2563 โดยให้เน้นการลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2562 (ต.ค. - ธ.ค.62) ขณะที่ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้มอบหมายให้ สคร.จัดทำระบบการติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เข้มข้นมากขึ้น และให้มีการประสานงานระหว่างกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาให้ใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งหากติดขัดให้รายงาน รมว.คลังทันที

ด้านนายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า ภาพรวมการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจ ปี 2562 มีผลการเบิกจ่ายในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค.61- มิ.ย.62) จำนวน 129,815 ล้านบาท หรือคิดเป็น 87% ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม โดยเป็นผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณจำนวน 71,525 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจปีปฏิทินจำนวน 58,290 ล้านบาท

สำหรับรัฐวิสาหกิจที่ สคร.กำกับดูแล 45 แห่ง ที่มีงบลงทุนขนาดใหญ่ และสามารถเบิกจ่ายได้เกินกว่าแผนหลายโครงการเฉพาะการลงทุนพัฒนารถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม - มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภค เช่น งานก่อสร้างปรับปรุงขยายของการประปาส่วนภูมิภาค โครงการโรงไฟฟ้าบางปะกง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)

ทั้งนี้ มีโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามแผน เช่น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย - จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม - ชุมพรของการรถไฟแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) หรือ AOT และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ซึ่งถึงแม้ว่าปัจจุบันโครงการเหล่านี้จะสามารถแก้ไขปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง การก่อสร้าง และเริ่มมีการตรวจรับงานและทยอยเบิกจ่ายได้แล้ว แต่เนื่องจากปัญหาความล่าช้าในช่วงแรก ส่งผลให้การดำเนินโครงการและการเบิกจ่ายของโครงการในภาพรวมยังล่าช้ากว่าแผน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ