(เพิ่มเติม) รมว.อุตสาหกรรม มอบนโยบาย สศอ.ออกมาตรการดึงดูดการลงทุน เร่งขับเคลื่อน S-Curve เตรียมถกส.อ.ท.แก้อุปสรรค

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 7, 2019 15:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม มอบนโยบายสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เร่งขับเคลื่อนแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ระยะแรก พร้อมผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)มาใช้ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยตามนโยบายรัฐบาล และการเตรียมยกระดับทักษะแรงงานให้ได้มาตรฐานผ่านแพลทฟอร์มพัฒนาทักษะบุคลากรแห่งชาติ (National Re-skill Platform) รวมไปถึงการผลักดันการใช้ระบบ i-industry เพื่อให้เกิดการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ อีกทั้งมอบหมายให้สศอ.ศึกษาแนวทางการจัดทำมาตรการในการดึงดูดการลงทุนและเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตจากต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะประเทศจีนและป้องกันการย้ายฐานการผลิต

ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ จะทำการทบทวนมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) ภายในประเทศ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ A-C-E-S (Autonomous-Connected-Electric-Shared & Services)

ขณะที่อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ พร้อมนำเสนอบริการของแพลตฟอร์ม ITP (Industry Transformation Platform)และขยายผลการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมไปสู่ผู้ประกอบการ SMEsทั่วประเทศให้มากขึ้น รวมถึงเตรียมขยายความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีกับต่างประเทศ อาทิ เยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน

ด้านของอุตสาหกรรมชีวภาพ กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และเตรียมประชาสัมพันธ์ให้จังหวัดอุบลราชธานี ฉะเชิงเทรา และลพบุรี เป็นพื้นที่ลงทุน Bio Hub เพิ่มเติมและอุตสาหกรรมอาหาร โดยเสนอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาก่อนเสนอเข้า ครม. ต่อไป ทั้งนี้เพื่อยกระดับผู้ประกอบการให้เป็นนักรบพันธุ์ใหม่ (Food Warrior) ในด้านต่าง ๆ เช่น Automation นวัตกรรม การตลาด และดิจิทัล เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้วยการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม โดยเชื่อมกับเมืองนวัตกรรมอาหาร food Innopolis

นายสุริยะ กล่าวว่า สิทธิประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายควรจะได้มากกว่าอุตสาหกรรมทั่วๆไป ยิ่งถ้าไปอยู่ใน EEC จะมีผลประโยชน์เพิ่มเติมอย่างไร หากสรุปได้แล้วจะนำเสนอนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีที่จะเดินทางมาตรวจเยี่ยมกระทรวงอุตสาหกรรมวันที่ 14 ส.ค.62

สำหรับมาตรการที่จะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯที่นับวันยิ่งรุนแรงขึ้น ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยแทนที่จะไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะดูเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการลงทุนให้สูงเพียงพอที่จะแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง

"เร็วๆนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะเชิญนักลงทุนจีนประมาณ 300 คนเข้ามารับทราบศักยภาพของประเทศไทยในการรองรับการลงทุน โดยจะพบปะหารือกับนักลงทุน พร้อมนำลงพื้นที่จริงในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อให้เห็นถึงความพร้อม"นายสุริยะ กล่าว

นอกจากนี้ จะเสนอที่ประชุม ครม.ในการจัดตั้งสำนักงานการค้าของกระทรวงอุตสาหกรรมในต่างประเทศเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากที่ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ซึ่งมองประเทศจีน ที่เซี่ยงไฮ้ โดยอาจจะตั้งในสถานทูต ซึ่งมั่นใจว่าจะไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ ที่มีการไปตั้งสำนักงานในต่างประเทศอยู่แล้ว แต่น่าจะเป็นการเสริมการทำงานให้กันมากกว่า คาดว่าจะดำเนินการได้ภายใน 1 ปีนับจากนี้ไปเนื่องจากต้องมีการตั้งงบประมาณและมีหลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ตลอดจนการร่วมมือกันทำงานอย่างใกล้ชิดกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และองค์กรพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งภายในและภายนอกประเทศเพื่อนำประเด็นที่ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐช่วยแก้ไขและให้การสนับสนุนมาปรับปรุงนโยบาย/ปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ โดยจะหารือกับส.อ.ท.ในวันที่ 9 ส.ค.นี้

นอกจากนี้ ในวันที่ 13 ส.ค.62 หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเดินไปหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับแนวทางช่วยเหลือผู้ส่งออกไทยที่ขณะนี้ประสบปัญหาเงินบาทแข็งค่า ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง โดยการหารือจะทำให้ทราบถึงแนวทางช่วยเหลือ ส่วนกรณีตัวแทนจากองค์กรชาวไร่อ้อยมาเข้าพบเพราะต้องการให้ภาครัฐพิจารณามาตรการช่วยเหลือให้ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2562/63 คุ้มต้นทุนการผลิตนั้น นายสุริยะ กล่าวว่า เบื้องต้นได้มอบสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ไปพิจารณาดูมาตรการช่วยเหลือต่อไปเพื่อที่จะให้ทันเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายในเดือนต.ค.นี้

"เรายังพอมีเวลาดูแนวทางช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในเรื่องราคาอ้อยก่อนจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งชาวไร่อ้อยเองอยากได้ระดับราคา 1,000 บาท/ตัน แต่ยอมรับว่าเท่าที่ดูเบื้องต้นน่าจะได้แค่ระดับ 900 บาท/ตัน เพราะราคาตลาดโลกตกต่ำจึงให้ สอน.ไปดูรายละเอียดอีกครั้ง โดยมาตรการช่วยเหลือจะไม่ขัดกับหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO)" นายสุริยะกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ