(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ค.62 .อยู่ที่ 75.0 ลดลงต่อเนื่อง-ต่ำสุดรอบ 22 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 8, 2019 12:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ค.62 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 75.0 จาก 76.4 ในเดือน มิ.ย.62 เป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 22 เดือน จากความกังวลสถานการณ์เศรษฐกิจ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 62.2 จาก 63.4 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ระดับ 70.9 จาก 72.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 91.9 จาก 93.5

ปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาสงครามการค้าโลก, ภัยแล้ง, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับลดลง, การส่งออกในเดือน มิ.ย.62 ติดลบ 2.15%, ผู้บริโภคกังวลเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้าและกระจุกตัว

ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ การเมืองในประเทศชัดเจนขึ้นหลังมีการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ , ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลง และเงินบาทแข็งค่า

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนก.ค.62 ปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 เนื่องจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเมืองเป็นสำคัญ อีกทั้งผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐฯ จะทำสงครามการค้ากับจีนมากขึ้น ด้วยการเตรียมปรับขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีกรอบในเดือนก.ย.นี้

นอกจากนี้ ยังมีสถานการณ์ระเบิดที่เพิ่งเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ตลอดจนราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ จึงทำให้เกิดผลเชิงลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต และทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 3 ของปีนี้เป็นอย่างน้อย ดังนั้น จึงเห็นว่าเป็นความจำเป็นอย่างมากที่รัฐบาลจะต้องเร่งผลักดันนโยบายการเงินการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพราะไม่เช่นนั้นอาจเห็นเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวไปจนถึงไตรมาส 4

"เหตุการณ์ระเบิดป่วนกรุงเข้ามาเป็นปัจจัยซ้ำเติม รวมกับสงครามการค้าที่มองว่าจะหนักขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยให้ติดลบมากขึ้น เหล่านี้เป็นปัจจัยลบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต ทำให้ระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะการซื้อบ้าน ซื้อรถ ดังนั้น ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะโตน้อยกว่า 3% จึงมีโอกาสมากขึ้น" นายธนวรรธน์ ระบุ

อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังคงประมาณการอัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ที่ 3.2-3.5%

นายธนวรรธน์ เห็นว่า รัฐบาลควรทำนโยบายการเงินและนโยบายการคลังแบบผ่อนคลาย โดยในส่วนของนโยบายการคลังแบบผ่อนคลาย คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนที่คาดว่าจะใช้เม็ดเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งม.หอการค้าไทย สนับสนุนให้รัฐบาลเร่งดำเนินการในส่วนนี้ ทั้งการประกันรายได้เกษตรกร เพื่อช่วยแก้ไขปัญหากำลังซื้อแก่เกษตรกรที่ยังสุ่มเสี่ยงต่อราคาพืชผลทางการเกษตรในระดับต่ำ, การดูแลค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในการจัดทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นการเติมเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยเพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยให้เงินได้สะพัดลงไปในแต่ละพื้นที่ และการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ เช่น ส่งเสริมการจัดประชุมสัมมนาของภาครัฐภายในประเทศแทนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมองว่ารัฐบาลควรผลักดันให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SME และภาคประชาชน เพื่อนำไปใช้ลงทุนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เป็นการเติมสภาพคล่องให้แก่ระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนการลงทุนในระดับท้องถิ่นผ่านองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งจะทำให้เกิดการจัดซื้อวัตถุดิบและการจ้างงานในจังหวัดเพิ่มขึ้น การลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กท์ต่าง ๆ

ส่วนการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายนั้น จะต้องดูแลเงินบาทให้อ่อนค่าลงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยที่ขณะนี้ต่างใช้สงครามค่าเงินเข้ามาเพื่อช่วยสร้างแต้มต่อในการแข่งขัน สำหรับล่าสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.50% นั้น อาจจะยังไม่เพียงพอในการดูแลเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเห็นว่าภายในสิ้นปีนี้ ธปท.ควรจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25%

ด้านนางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวต่อว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง การหันมาพึ่งพาการบริโภคในประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่ในปัจจุบันการบริโภคชะลอตัวลง และ ธปท.ยังมีความเป็นห่วงในเรื่องของหนี้ครัวเรือน โดยเล็งที่จะออกมาตรการดูแลการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนในช่วงปลายปีนี้ ซึ่ง ม.หอการค้าไทย มองว่าอาจจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะการทำให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในระบบยากขึ้น อาจจะยิ่งเป็นการผลักดันให้เกิดปัญหาหนี้นอกระบบมากขึ้น ดังนั้น ควรต้องใช้กลไลของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐในการช่วยทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนได้สะดวกขึ้น

"ในช่วงนี้ ถ้าจะ trade off ระหว่างหนี้สินครัวเรือนกับเสถียรภาพของสถาบันการเงินนั้น ในช่วงนี้ควรจะมีการกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีเครื่องจักรที่ติดขึ้นมาได้หรือไม่ ควรจะดึงให้การบริโภคเพิ่มขึ้น เพราะตอนนี้มันชะลอลงอย่างมาก ถ้าเรากลัวปัญหาหนี้ครัวเรือนและยังคุมสินเชื่ออุปโภคบริโภคอยู่นั้น จริงๆ แล้วควรปล่อยให้กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน ถ้าจะคุมจริงๆ ขอให้เลยไตรมาส 4 ปีนี้ไปก่อน เพราะถ้าเข้าถึงสินเชื่อในระบบยาก ก็จะยิ่งออกไปนอกระบบ และเป็นการซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนมากขึ้น...อาจต้องให้ SFI หรือ บสย.เข้ามาช่วย เพราะการเข้าถึงสินเชื่ออาจจะต้องมีความระมัดระวังมากขึ้นเมื่อแบงก์ชาติส่งสัญญาณแบบนี้ แล้วเขาจะมีสภาพคล่องได้อย่างไร " นางเสาวณีย์ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ