SCB EIC ชี้ผลกระทบสงครามการค้ายังไม่จบ แม้สหรัฐฯ ชะลอการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนบางส่วน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 15, 2019 16:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองว่า ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน มีแนวโน้มบรรลุได้ยากในปี 62 แม้จะมีการเลื่อนการขึ้นภาษี โดยล่าสุดสินค้าจีนที่ถูกชะลอการเก็บภาษีนำเข้า 10% จากเดิมวันที่ 1 กันยายน ไปเป็นวันที่ 15 ธันวาคม มูลค่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (จากทั้งหมด 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เนื่องจากต่างฝ่ายต่างแสดงท่าทีที่ชัดเจนในการตอบโต้และมาตรการที่เข้มงวดในระยะข้างหน้า ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ 1) การประกาศการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนส่วนที่เหลืออย่างเป็นทางการว่าจะมีกำหนดการขึ้นในวันที่ 1 กันยายน และ15 ธันวาคมนี้ 2) การที่ทางการสหรัฐฯ ยังคงแบน Huawei รวมถึงอีกหลายบริษัทจีนในรายชื่อบริษัทต้องห้าม (US entity list) ซึ่งเป็นการสั่งห้ามไม่ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนสหรัฐฯ ทำธุรกรรมและการค้ากับ Huawei เว้นแต่จะได้รับอนุญาตและแนวโน้มที่ทางการสหรัฐฯ จะไม่ขยายเวลาต่อหรือปลดคำสั่งห้ามนี้หลังช่วงเวลาผ่อนผันวันที่ 19 สิงหาคมนี้ และ 3) การที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจีนเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน (currency manipulator) เพื่อผลประโยชน์ในด้านการค้าตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม ซึ่งจะทำให้ทางการสหรัฐฯ สามารถตัดบริษัทจีนออกจากงานประมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของสหรัฐฯ รวมถึงการส่งเรื่องถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อแจ้งกรณีการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีน ซึ่งอาจเป็นการปูทางสู่การทำมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นที่ไม่ใช่ภาษี (non tariff measures) และการคว่ำบาตรจีนเพิ่มเติมในอนาคตได้

ฝั่งจีน 1) ทางการจีนประกาศระงับการซื้อสินค้าเกษตรสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้มาตรการภาษีสหรัฐฯ และมีโอกาสที่จะลดการส่งออกสินแร่หายาก (rare earth) ไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสินแร่ที่มีความจำเป็นในการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เทคโนโลยี เช่น โทรศัพท์มือถือ โดยจีนเป็นผู้ครองสัดส่วนในการผลิตสินแร่นี้ราว 70% ของการผลิตโลกและสหรัฐฯ ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีนสูง 2) ทางการจีนเตรียมประกาศรายชื่อบริษัทที่ไม่น่าไว้วางใจและเป็นภัยคุกคามต่อบริษัทจีน (unreliable entity list) ซึ่งคาดการณ์ว่าเป็นมาตรการเพื่อตอบโต้รายชื่อบัญชีต้องห้ามของสหรัฐฯ และ 3) ทางการจีนยังปล่อยเงินหยวนอ่อนค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประธานาธิบดีทรัมป์และทางการสหรัฐฯ อย่างมาก

ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินความเสี่ยงต่อภาคการส่งออกไทยในปี 62 ยังคงสูง และมีโอกาสที่การส่งออกจะหดตัวมากกว่าคาดหากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนในระยะข้างหน้ายังไม่มีความคืบหน้า SCB EIC คาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปี 62 ที่ 3.1% และอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัว 1.6% สะท้อนว่าภาคการส่งออกไทยทั้งการส่งออกสินค้ารายประเทศและรายสินค้าสำคัญในภาพรวม ยังคงเผชิญความเสี่ยงจากปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มลดลงในปี 62 ซึ่งภาคการส่งออกไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะหดตัวมากกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีแรกยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามการค้าเนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าขั้นกลาง และมีความเชื่อมโยงกับการค้าในภูมิภาคสูง จากความตึงเครียดทางการค้า, ความสัมพันธ์และการเจรจาทางการค้าของสหรัฐฯ-จีน ที่แย่ลงในช่วงเดือนกรกฎาคมและต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ในระยะต่อไป ภาคการส่งออกไทยยังคงต้องจับตาใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) ภาษีในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนตามมาตรา 232 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ ที่มีเส้นตายวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ และ 2) มาตรการกีดกันทางการค้าที่สหรัฐฯ สามารถเพ่งเล็งรายประเทศเป็นกรณีพิเศษ เช่น การตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP: Generalized System of Preferences) ดังเช่นกรณีที่อินเดียโดนถอด GSP ไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน และกรณีที่เวียดนามถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกว่า 400% สำหรับเหล็กบางชนิดเกาหลีและไต้หวันและถูกที่นำมาแปรรูปในเวียดนามก่อนส่งไปยังสหรัฐฯ เป็นต้น ซึ่งทั้งภาษียานยนต์และการตัด GSP ของสหรัฐฯ นี้เป็นความเสี่ยงต่อแนวโน้มการส่งออกและสามารถส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทยได้ต่อเนื่องหากถูกนำมาใช้จริง ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งหลัก เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า

โดย SCB EIC มองผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะส่งผ่าน 6 ช่องทางหลัก ได้แก่ 1) ด้านห่วงโซ่อุปทานกับจีน 2) ด้านเศรษฐกิจจีนชะลอตัว 3) ด้านประเทศคู่ค้าไทยที่พึ่งพาการส่งออกจีนสูง 4) ด้านการทุ่มตลาด 5) ด้านการท่องเที่ยวไทย และ 6) ด้านผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยเฉพาะภาษีรอบนี้อาจมีผลกระทบซ้ำเติมด้านการชะลอตัวของจีน และแนวโน้มการทุ่มตลาดในสินค้าผู้บริโภคที่จีนอาจส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่ได้บางส่วน ผลกระทบของสงครามการค้าสามารถส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทยผ่าน 6 ช่องทาง ทั้งการค้า การทุ่มตลาด การท่องเที่ยว การลงทุนของนักลงทุนจีนในภาคอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ดี SCB EIC มองว่า ผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทยจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะในช่องทางด้านห่วงโซ่อุปทานไทย-จีน ในสินค้า 5 หมวดหลัก ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และเคมีภัณฑ์ และช่องทางด้านเศรษฐกิจจีนชะลอ ซึ่งจะส่งผลต่อสินค้านำเข้าในหมวดอุปโภคบริโภคที่จีนนำเข้าจากไทยสูง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าบางส่วน รถยนต์และส่วนประกอบ ข้าว และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น

นอกจากนี้ ผลกระทบทางลบด้านการถูกสินค้าจีนทุ่มตลาดอาจเกิดขึ้นได้เพิ่มขึ้นในหมวดสินค้าผู้บริโภค เช่น เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนบางส่วน ที่จีนไม่สามารถส่งไปยังสหรัฐฯ ได้และมีสินค้าคงเหลือ ซึ่งสังเกตได้จากผลของภาษีของสหรัฐฯ รอบก่อนหน้าที่ขึ้นกับสินค้าเหล็กจีน ซึ่งส่งผลให้เหล็กจีน เช่น เหล็กท่อนและเส้น ท่อเหล็ก ผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดแบน สปริงเหล็กและลวดเหล็ก ที่ทะลักเข้ามาในปริมาณที่มากขึ้น สะท้อนจากมูลค่าการนำเข้าในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ โดยผลกระทบจะยิ่งชัดเจนหากทางการสหรัฐฯ ตัดสินใจขึ้นภาษีจีนในรอบนี้จากอัตรา 10% เป็น 25% ในระยะข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ