ภาวะตลาดเงินบาท: เงินบาทปิด 30.76/81 แข็งค่าเล็กน้อย มองกรอบพรุ่งนี้ 30.70-30.85

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 20, 2019 17:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 30.76/81 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าเล็กน้อย
จากช่วงเช้า ที่เปิดตลาดที่ระดับ 30.81/85 บาท/ดอลลาร์

วันนี้เงินบาทยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบ แต่ปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย มองว่าช่วงนี้ตลาดยังนิ่งๆ แม้วันนี้ ครม.จะอนุมัติมาตรการ กระตุ้นเศรษฐกิจ 3.16 แสนล้านบาทออกมาก ก็ไม่ได้ส่งผลต่อทิศทางของค่าเงินบาทมากนัก เชื่อว่าเป็นเพราะตลาดรับข่าวนี้ไปแล้วจาก การอนุมัติของ ครม.เศรษฐกิจ ในสัปดาห์ก่อน

"บาทวันนี้แข็งค่าจากเช้าแค่ 4-5 สตางค์ มี flow เข้ามา แต่ก็ไม่ได้มีผลมากนัก ส่วนที่ ครม.อนุมัติมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจวันนี้ ก็ไม่ได้มี effect มาก เพราะตลาดคงรับข่าวไปตั้งแต่รอบที่ ครม.เศรษฐกิจอนุมัติแล้ว" นักบริหารเงินระบุ

ปัจจัยสำคัญสำหรับสัปดาห์นี้ที่นักลงทุนรอติดตาม คือ การประชุมวิชาการแจ็คสัน โฮลล์ ที่จะมีประธานธนาคารกลางสหรัฐ มากล่าวสุนทรพจน์

นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.70-30.95 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 106.1050 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 106.56 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1070/1090 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1085 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,625.57 จุด ลดลง 11.69 จุด (-0.71%) มูลค่าการซื้อขาย 56,867 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 2,982.47 ลบ.(SET+MAI)
  • ที่ประชุม ครม.อนุมัติชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 3.16 แสนล้านบาท คาดช่วยดัน GDP ปีนี้ให้โตไม่ต่ำกว่า 3%
ประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1. มาตรการบรรเทาค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกองทุนหมู่บ้าน 2. มาตรการเพื่อ
บรรเทาค่าครองชีพสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ปี 2562 และเกษตรกรรายย่อย 3. มาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน
ภายในประเทศ
  • สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสเติบโตได้
ถึง 3.5% หลังจากการติดตามสถานการณ์ช่วงก่อนหน้านี้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 62 จะขยายตัวได้แค่ 3% ชะลอตัวลงจากปี 61 ที่
ขยายตัวได้ 4.1% จากปัจจัยอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอตัวลงเป็นสำคัญ อันเป็นผลจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่
ชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงการตอบโต้ทางการค้าระหว่างประเทศต่างๆ ส่งผลให้มูลค่าการ
ส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้มีแนวโน้มหดตัวลง -0.9%

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเสถียภาพเศรษฐกิจในประเทศนั้น คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ จะอยู่ที่ 1% ลดลงจากปีก่อน ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางลดลง ขณะที่เสถียภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะ เกินดุล 33.3 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 6.1% ของ GDP

  • ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาบอสตัน เปิดเผยว่าไม่สนับสนุนให้เฟดปรับลดดอกเบี้ย เพราะการปรับลด
ดอกเบี้ยอาจทำให้เกิดปัญหาหนี้สินตามมา และเศรษฐกิจสหรัฐเองก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วงมาก จึงไม่จำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยเพื่อ
กระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมระบุว่า การปรับลดดอกเบี้ยจะเสี่ยงทำให้ประชาชนแห่กู้เงินจนทำให้เกิดปัญหาหนี้สินตามมา ซึ่งจะทำให้สถานการณ์
ยุ่งยากขึ้นไปอีกหากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง
  • มอร์แกน สแตนลีย์ ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ของฮ่องกงจะมีความผันผวนมากขึ้น ขณะที่นักลงทุนยังคงแห่
ถอนเงินสดออกจากตลาดการเงินฮ่องกง ทั้งนี้ แม้ธนาคารกลางฮ่องกงจะมีทุนสำรองเพียงพอในการปกป้องค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงที่
ระดับ 7.85 ดอลลาร์ฮ่องกง/ดอลลาร์สหรัฐนั้น แต่ภาวะที่อันตราย ก็คือความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย Hibor จะส่งผลกระทบต่อ
ตลาดต่างๆ และกระทบต่อเศรษฐกิจของฮ่องกงเอง
  • ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้อัดฉีดเงินจำนวน 5 หมื่นล้านหยวนเข้าสู่ระบบ ผ่านทางข้อตกลง reverse repo
อายุ 7 วัน ที่อัตราดอกเบี้ย 2.55% ในขณะเดียวกันมีข้อตกลง reverse repo ที่ครบกำหนดไถ่ถอนมูลค่า 6 หมื่นล้านหยวน ซึ่ง
เท่ากับว่ามีเม็ดเงินสุทธิที่ถูกระบายออกจากระบบทั้งสิ้น 1 หมื่นล้านหยวน ทั้งนี้ ทางการจีนระบุว่าจะดำเนินนโยบายทางการเงินใน
ลักษณะที่เป็นกลาง โดยจะไม่ผ่อนคลายหรือคุมเข้มมากจนเกินไป พร้อมกับรักษาสภาพคล่องในตลาดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในปี
2562

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ