รมว.คมนาคม เผยรัฐบาลวางยุทธศาสตร์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาการขนส่ง-โลจิสติกส์ตามกรอบเวลา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 27, 2019 08:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวในหัวข้อเรื่อง "ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย ภายใต้รัฐบาลใหม่" ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า กระทรวงคมนาคมมีหน้าที่ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ของชาติ โดยดูเรื่องของงบประมาณการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางบก ทางอากาศ ทางน้ำ และทางราง ซึ่งคิดเป็นงบประมาณรวม 1.9 ล้านล้านบาท

สำหรับตนเพิ่งได้เข้ามารับตำแหน่ง ก็ได้มีการวางวิสัยทัศน์ไว้ 5 เรื่อง ได้แก่ การบริการประชาชนให้ได้รับความสะดวกสบาย ปลอดภัยและประหยัด, ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ลดภาระงบประมาณให้รัฐบาล, ต้องบริหารจัดการทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์ และเต็มประสิทธิภาพ ,ยกระดับคุณภาพชีวิต แก้ปัญหาปากท้องของประชาชน และทุกโครงการของกระทรวงคมนาคมต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะอยู่ในกรอบระยะเวลา 1 เดือน 3 เดือน และ 3 ปี

โดยเรื่องแรกที่ต้องดำเนินการภายใน 1 เดือน คือ การเข้าไปดูโครงการก่อสร้างที่ล่าช้า เช่น โครงการปรับปรุงทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2),โครงการก่อสร้างขยายถนนกัลปพฤกษ์ และการตรวจสอบความคืบหน้าในโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา เป็นต้น ถัดมาคือเรื่องของการแก้ไขปัญหามลภาวะ (PM 2.5) โดยหน่วยงานทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม จะต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กับรถคันใดที่ไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมนำมาวิ่งบนถนน หรือทำลายสิ่งแวดล้อมก็ไม่ควรอนุญาตให้เข้ามาวิ่งบนถนนได้ ซึ่งก็ได้มีการมอบนโยบายกับกรมขนส่งทางบกไปแล้ว

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการจัดระเบียบเวลาให้กับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ที่เข้ามาใช้ถนนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยต้องการให้ผู้ประกอบการที่ใช้รถขนาดใหญ่มาใช้แค่ช่วงเวลาเที่ยงคืนถึงตีสี่ เพื่อลดระยะเวลาการเดินทางของประชาชนบนท้องถนน รวมถึงการเพิ่มความเร็วของรถ บนถนน 4 เลนขึ้นไป ให้สามารถวิ่งได้สูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยจะเริ่มทดลองจากถนนสายหลัก คือ สุขุมวิท เพชรเกษม มิตรภาพ และพหลโยธิน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอสรุปความชัดเจนว่าช่วงไหนที่จะทำได้ โดยยึดความปลอดภัยเป็นหลัก จึงมีการเสนอให้มีการทำแบริเออร์ยางพารา แทนการทำเกาะกลางถนน ซึ่งคุณสมบัติจะต้องรับแรงรถที่วิ่งด้วยความเร็ว 140-150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้จะช่วยลดอุบัติเหตุลงได้ โดยสิ่งสำคัญที่สุด คือการผลิตแบริเออร์ยางพาราจะต้องทำจากสหกรณ์การเกษตรสวนยาง ซึ่งจะช่วยให้เกิดประโยชน์ในเรื่องการคมนาคมทางบก และเกิดประโยชน์ต่อชาวเกษตรกร อีกทั้งเรื่องของการบริหารจัดการรถสาธารณะ ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือการนำแอพพลิเคชั่นมาใช้ จะต้องเป็นการบริการของคนไทย

ส่วนสิ่งที่ต้องทำภายใน 3 เดือน คือ การทำบัตรโดยสารแบบสามารถใช้ชำระค่าบริการการขนส่งสาธารณะได้ทุกประเภท, การศึกษาแก้ไขปัญหาคอขวดหน้าด่านเก็บเงิน ไม่ว่าจะเป็นทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์ โดยได้มอบให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และกรมทางหลวง ไปศึกษาความเป็นไปได้ถึงการจำหน่ายตั๋วหน้าตู้ เพื่อให้ระบายรถได้เร็วขึ้น รวมถึงสร้างแรงจูงใจ หรือลดค่าบริการ เพื่อดึงดูดคนไปใช้ Easy Pass มากขึ้น ขณะเดียวกันการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ด้วยการพัฒนาการบริการรถโดยสารขสมก. ซึ่งต่อไปจะต้องเป็นรถโดยสารปรับอากาศเท่านั้น และต้องทำตั๋ววันให้ได้ ซึ่งมีค่าบริการที่จะต้องทำให้ประชาชนอยู่ได้ เบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ที่ 30 บาทต่อวัน

ขณะที่การศึกษาแนวทางการปรับรถค่าไฟฟ้า โดยไม่มีภาระการนำภาษีอากรประชาชนมาใช้ ซึ่งปัจจุบันก็มีการศึกษาไปพอสมควร เบื้องต้นอาจนำเงินในอนาคตมาชดเชย และการพัฒนาระบบราง ที่วิ่งจากกรุงเทพฯ ไปยังต่างจังหวัด โดยวางเป้าหมาย 3 ปี พัฒนารถไฟรางคู่ เพื่อดึงการขนส่งทางบกไปยังราง เพื่อลดปริมาณรถบรรทุกบนถนนลง 30% และเพิ่มพื้นที่จราจรให้ประชาชน รวมถึงจะพยายามผลักดันการลงทุนรถไฟฟ้าในทุกเส้นทาง ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกที่งบประมาณมีไม่เพียงพอก็จะเปิดให้เอกชนมาร่วมลงทุน (PPP)

ด้านการคมนาคมทางน้ำ รมว.คมนาคม กล่าวว่า จะผลักดันให้เกิดการใช้โลจิสติกส์ทางน้ำมากขึ้น เพื่อช่วยลดปริมาณการขนส่ง ในภาวะที่การจราจรติดขัด และทางอากาศ ทั้งสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ก็มีการลงทุนขยายพื้นที่รองรับผู้โดยสารเพิ่ม และพัฒนาสนามบินภูมิภาค ที่มีศักยภาพในการทำพาณิชย์ เช่น สนามบินอุดรธานี, กระบี่ และพังงา เป็นต้น

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าเรื่องการขยายขีดความสามารถของสนามบินสุวรรณภูมิ ศาลได้ยกคำร้องไปแล้ว ซึ่งจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ยังต้องรอคำสั่งศาล ในขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา จะมีการลงนามในสัญญาภายในเดือนก.ย.62

รมว.คมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าคดีโครงการโฮปเวลล์ว่า หลังมีรายงานว่าอาจมีการทุจริตเกิดขึ้นระหว่างบุคลากรของกระทรวงคมนาคมกับผู้ได้รับสัมปทาน กระทรวงคมนาคมเตรียมตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบการทุจริต ซึ่งหากพบว่ามีความผิดจริงก็จะนำเรื่องส่งฟ้องศาลฎีกา หรือหากกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยังเป็นผู้แพ้คดี ก็ยินดีปฏิบัติตามคำสั่งศาล โดยจะต้องจ่ายเงินชดเชยทั้งหมดรวม 25,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 12,000 ล้านบาท และดอกเบี้ยอีก 13,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลือกสุดท้าย คือ การเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาว่าจะนำเงินส่วนไหนมาจ่ายชดเชย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีโครงการโฮปเวลล์ใหม่ และคำสั่งศาลปกครองสูงสุด มีกำหนดให้จ่ายเงินทั้งหมดภายในเดือนต.ค.นี้ ก็จะขอต่อสู้คดีจนถึงที่สุด เพื่อไม่ให้มีค่าโง่เกิดขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ