รมว.คลัง ยันออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหวังสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดการหมุนเวียนภายใน จากผลกระทบศก.โลก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 27, 2019 08:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย ภายใต้รัฐบาลใหม่" ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ โดยระบุว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน ส่งผลกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุนทั่วโลก ประกอบกับปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่กลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความท้าทายในเชิงเศรษฐกิจที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญต่อไปอีกระยะ กระทรวงการคลัง จึงเป็นส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาวให้เดินหน้าต่อไปได้ภายใต้ความท้าทายจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

โดยในระยะสั้น รัฐบาลได้ออกชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อย การกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายประเทศ การกระตุ้นการลงทุนในประเทศ และการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ซึ่งจะเห็นว่าเหล่านี้เป็นมาตรการที่ทำได้จริงและดำเนินการได้ภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว ตอบโจทย์สำคัญที่ว่ารัฐบาลไม่สามารถปล่อยให้เศรษฐกิจไทยทรุดตัวลงไปมากกว่านี้ และจะเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญที่ช่วยไม่ให้เศรษฐกิจต้องหยุดชะงักจากผลกระทบจากปัจจัยความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

"เป็นการตอบโจทย์สำคัญที่ว่า วันนี้เราจะปล่อยให้เศรษฐกิจไทยตกท้องช้างไม่ได้ เรายังไม่รู้ว่าไตรมาส 3 ไตรมาส 4 เศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร ดังนั้นที่เราทำ คือตอบโจทย์สิ่งนี้ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจไทยจากภายในได้หมุนเวียนต่อไปได้ ไม่หยุดชะงัก สร้างความมั่นใจให้ประชาชน นักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เพราะหากผลกระทบเศรษฐกิจโลกมีความรุนแรงขึ้นอีก และเราเกิดตกท้องช้างขึ้นมา มันจะมีความเสี่ยงสูงมาก ดังนั้นเราจึงต้องประคองเศรษฐกิจไว้ด้วยการออกชุดมาตรการต่างๆ" รมว.คลังกล่าว

พร้อมยืนยันว่า ชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกาศออกมาล่าสุดนั้น ยึด 4 หลักการที่สำคัญ คือ ตรงจุด, รวดเร็ว, โปร่งใส และชั่วคราว

ส่วนในระยะปานกลางและระยะยาวนั้น รัฐบาลจะต้องเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณสำหรับการลงทุน เพื่อการปรับเปลี่ยนประเทศ ซึ่งเป็นอีกโจทย์สำคัญของรัฐบาลในภาวะที่โลกมีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงมาตรการทางการค้าต่าง ๆ ซึ่งการขับเคลื่อนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่าง ๆ เช่น โครงการใน EEC ก็ถือว่าเป็นโครงการลงทุนที่ประสบความสำเร็จ และระยะยาวจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อประเทศ

รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า หากในอนาคตเศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก รัฐบาลก็พร้อมจะมีมาตรการอื่น ๆ ออกมาเพื่อช่วยในการดูแลเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของมาตรการทางภาษี หรือการใช้งบประมาณต่าง ๆ ซึ่งชุดมาตรการล่าสุดที่ออกมาจะยังไม่ใช่มาตรการสุดท้าย

"ความยืดหยุ่นคือสิ่งสำคัญ ถ้าภาวะการเงินการคลังเราตึง จะขยับอะไรก็ลำบาก งบประมาณที่จะกระตุ้นแบบที่ออกไปนั้น ก็จะออกได้ลำบาก แต่วันนี้เราสามารถออกได้ เรายังมีความยืดหยุ่นในการจะใช้นโยบายการเงินการคลังที่จะทำได้ คือเราไม่ได้ออกครั้งนี้แล้วหมดเลย เราไม่ทำอย่างนั้นแน่นอน เราต้องเผื่อไว้อีก ทั้งงบประมาณ ทั้งภาษี" รมว.คลังระบุ

สำหรับสถานการณ์สงครามการค้าที่เริ่มจะรุนแรงขึ้นอีกนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลกำลังติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด แต่ในระหว่างนี้รัฐบาลต้องการเห็นการพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศได้ก่อน จึงได้ออกชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา เพื่อให้เศรษฐกิจภายในประเทศเกิดการหมุนเวียน ซึ่งจะถือว่าเป็นภูมิกันที่ดีที่สุดในภาวะเช่นนี้

"กรณีสหรัฐฯ และจีน เราติดตามใกล้ชิด ทุกประเทศก็ติดตามใกล้ชิด ถึงบอกว่าเราต้องดูแลตัวเราให้เต็มที่ ไม่ให้พวกเราฝ่อไปตามสถานการณ์เกินไป การที่เราออกมาตรการ เราหวังผลจริงๆ ที่จะให้เกิดการหมุนเวียน ดีที่สุดที่ทำได้ตอนนี้ การจับจ่ายใช้สอย บางทีไม่ค่อยดี เราก็ใช้วิธีเสริม แต่วัตถุประสงค์หลักต้องยึดไว้คือ เศรษฐกิจต้องหมุน ถึงจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดของเหตุการณ์แบบนี้" รมว.คลังระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ