พาณิชย์ เผยค้าชายแดน-ผ่านแดน 7 เดือนแรกปี 62 กว่า 8 แสนลบ. โต 1.67% มั่นใจแนวโน้มครึ่งปีหลังยังสดใส

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 29, 2019 11:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทย 7 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 806,232.63 ล้านบาท ขยายตัว 1.67% เป็นการส่งออก 446,517.75 ล้านบาท (ลดลง 0.55%) และการนำเข้า 359,714.88 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 4.56%) ซึ่งเกินดุลการค้า 86,802.87 ล้านบาท โดยแยกเป็น 1.การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ มูลค่า 646,284.30 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 0.46%) เป็นการส่งออก 362,241.25 ล้านบาท (ลดลง 3.61%) นำเข้า 284,043.05 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6.17%) เกินดุลการค้า 78,198.20 ล้านบาท และ 2.การค้าผ่านแดนกับ 3 ประเทศ มูลค่า 159,948.33 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6.85%) เป็นการส่งออก 84,276.49 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 15.11%) นำเข้า 75,671.83 ล้านบาท (ลดลง 1.06%) เกินดุลการค้า 8,604.66 ล้านบาท

ทั้งนี้ การค้าชายแดน มาเลเซียยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง มูลค่า 318,194.49 ล้านบาท (ลดลง 2.49%) เป็นการส่งออก 150,497.27 ล้านบาท (ลดลง 11.30%) นำเข้า 167,697.21 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 7.05%) รองลงมาคือ เมียนมา มูลค่า 118,583.91 ล้านบาท, สปป.ลาว มูลค่า 116,346.28 ล้านบาท และกัมพูชา มูลค่า 93,159.63 ล้านบาท

ขณะที่การค้าผ่านแดนจีนตอนใต้ มีมูลค่าสูงสุด มูลค่า 73,616.23 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 40.83%) เป็นการส่งออก 31,208.38 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 61.22%) นำเข้า 42,407.85 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 28.84%) รองลงมาคือ เวียดนาม มูลค่า 43,751.49 ล้านบาท และสิงคโปร์ มูลค่า 42,580.60 ล้านบาท

นายอดุลย์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยและประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ได้แก่ ความยืดเยื้อของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ยังมีความไม่แน่นอนในการเจรจาหาข้อยุติปัญหาข้อพิพาทและขัดแย้งของประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ อินเดีย-ปากีสถาน, เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น และการประท้วงในฮ่องกง รวมถึงการถอนตัวออกจากประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) ของอังกฤษ (BREXIT) ในวันที่ 31 ต.ค.นี้ รวมถึงความผันผวนของค่าเงินของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะไทยและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค

สำหรับสถานการณ์การค้าชายแดนด้านมาเลเซีย การส่งออกยังคงหดตัวลง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้ายางพารา/ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ ขณะที่ สปป.ลาว การส่งออกยังคงหดตัวลง อาทิ น้ำมันดีเซล/น้ำมันสำเร็จรูป, รถยนต์ อุปกรณ์ฯ รวมถึงผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า สินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรอื่นๆ ด้านเมียนมา การส่งออกยังคงมีการชะลอตัวเล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มสินค้าน้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สำหรับกัมพูชา สถานการณ์การค้ามีการขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกขยายตัวถึง 21.09% โดยเฉพาะการส่งกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์, รถยนต์ อุปกรณ์ฯ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ได้มีแผนผลักดันการค้าในปี 2562 โดยในระยะเร่งด่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนกระทรวงพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรคด้านการส่งออก เพื่อผลักดันให้การส่งออกของไทยในปีนี้ขยายตัวได้มากขึ้น

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ในระยะเวลาที่เหลือในปี 2562 กรมฯ ได้เร่งจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าชายแดน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ได้แก่ กิจกรรมสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (Young Entrepreneur Network Development Program : YEN-D Program) เตรียมนำกลุ่ม YEN-D Program สร้างความสัมพันธ์และเจรจาจับคู่ธุรกิจ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 13-15 ก.ย.62 และกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 20-22 ก.ย.62

นอกจากนี้ ยังมีกำหนดจัดงานมหกรรมการค้าชายแดนและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มุกดาหาร-สะหวันนะเขต "สานสัมพันธ์การค้า เชื่อมโยงสองฝั่งโขง" ระหว่างวันที่ 12-15 ก.ย.62 ณ จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งจะนำทัพผู้ประกอบการทั้งไทยและ สปป.ลาว จัดแสดงและจำหน่ายสินค้าของทั้ง 2 ประเทศ พร้อมจัดสัมมนาให้ความรู้ผู้ประกอบการไทยทั้ง SMEs/Start up และจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการของทั้ง 2 ประเทศ และจัดประชุมหารือ-เอกชนของทั้ง 2 ประเทศ เพื่อร่วมกันส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ