ธปท.มองเศรษฐกิจปีนี้มีโอกาสโตต่ำกว่า 3% จากความเสี่ยงตปท., จับตาเงินเฟ้อ ส.ค.สะท้อนอุปสงค์-ใช้จ่ายในประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 30, 2019 17:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 62 มีโอกาสจะเติบโตได้น้อยกว่า 3% จากผลกระทบของปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะสงครามการค้าที่ยังมีแนวโน้มจะยืดเยื้อแม้สถานการณ์จะดูเบาบางลงก็ตาม ซึ่งปัจจัยนี้จะส่งผลเชิงลบและเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

ขณะที่ยังต้องจับตาผลของมาตรการภาครัฐว่าจะช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด โดยเชื่อว่ารัฐบาลจะยังมีมาตรการช่วยกระตุ้นในเรื่องของการลงทุนภาคเอกชนออกมาอีกในระยะต่อไป

"มีความเป็นไปได้ที่ปีนี้ GDP จะโตน้อยกว่า 3% จากผลของปัจจัยต่างประเทศเข้ามากระทบ ความเสี่ยงภาคต่างประเทศยังดูไม่ค่อยน่าไว้วางใจ โดยเฉพาะจากทรัมป์" นายดอนกล่าว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2/62 ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/62 เชื่อว่าจะดีขึ้นแน่นอน เนื่องจากได้ปัจจัยด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวเป็นบวก ซึ่ง ธปท.ได้เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/62 จะขยายตัวได้ราว 3.5% แต่ปัจจุบันมีปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบ จึงต้องขอดูสถานการณ์อีกครั้งก่อน

"ต้องขอดูใกล้ๆ อีกทีค่อยทำ ถ้าทำไปก่อน สถานการณ์โลกมันไม่แน่นอน นี่จึงเป็นสาเหตุที่กระทรวงการคลังไม่แถลงประมาณการเศรษฐกิจเมื่อสิ้นเดือนที่แล้ว เขารอดูมาตรการต่างๆ ที่จะออกมาด้วย"นายดอน กล่าว

สำหรับการส่งออกไทยในระยะต่อไปมองว่ามีทิศทางดีขึ้น กล่าวคือถ้าไม่เป็นบวกก็อาจจะติดลบน้อยลง หากยังสามารถส่งออกทองคำได้เป็นมูลค่าสูงเช่นเดียวกับเดือน ก.ค.62 ขณะเดียวกันการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะได้ปัจจัยบวกจากการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟที่เกิดจากการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทย รวมทั้งการเร่งส่งออกสินค้าก่อนที่จะมีการปรับขึ้นอัตราภาษีระหว่างสหรัฐและจีน

"ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดไปอีกระยะ ถึงจะมีความมั่นใจได้ว่าการส่งออกของไทยในปีนี้ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนระหว่างสหรัฐและจีน" นายดอน กล่าว

อย่างไรก็ดี คาดว่าในไตรมาส 4/62 การส่งออกไทยจะสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ เนื่องจากฐานในปีก่อนต่ำ ประกอบกับวัฎจักรการส่งออกสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ช่วงปลายปีจะดีขึ้น แต่ในภาพรวมของการส่งออกทั้งปีแล้ว ยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถขยายตัวเป็นบวกได้หรือไม่

นายดอน กล่าวด้วยว่า จากในเดือน ก.ค.62 ที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงต่ำสุดในรอบหลายปีนั้น คงต้องรอดูตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ส.ค.62 ที่กระทรวงพาณิชย์จะประกาศในวันที่ 2 ก.ย.นี้ว่าจะออกมาอย่างไร เพราะเป็นข้อมูลที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นตัวสะท้อนอุปสงค์หรือการใช้จ่ายภายในประเทศว่ามีความแข็งแรงมากน้อยเพียงใด

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค.62 สามารถขยายตัวได้เล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้นตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนและกึ่งคงทน แต่โดยรวมยังอยู่ในทิศทางที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก ด้านการใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนทรงตัว การส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัวเล็กน้อย แต่เป็นผลจากการส่งออกทองคำ สำหรับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวจากนักท่องเที่ยวจีนและอินเดียเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำจากเหตุการณ์เรือล่มใน จ.ภูเก็ต

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลง สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงจากเดือนก่อนตามดุลการค้าเป็นสำคัญ ด้านดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน

"ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค.ดูดีขึ้นกว่าเดือน มิ.ย.และในเดือน ก.ค.นี้ มีตัวเลขหลายตัวที่ดีขึ้นจากเดือน มิ.ย. แม้จะไม่ได้ดีขึ้นมาก และหลายตัวมาจากปัจจัยชั่วคราว แต่ก็ทำให้เห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยในเดือนมิ.ย.ที่เหมือนไหลลงค่อนข้างแรงนั้น อย่างน้อยก็ไม่ได้ไหลลงต่อในเดือน ก.ค. อย่างน้อยก็มีความมั่นคงเพิ่มขึ้น" นายดอน ระบุ

อย่างไรก็ดี อัตราการจ้างงานที่ลดลงในเดือนก.ค. มีความสุ่มเสี่ยงต่อการบริโภคภาคเอกชนในระยะถัดไป ซึ่งการบริโภคภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีหลังสุ่มเสี่ยงจากผลกระทบด้านการส่งออกที่ชะลอตัว

"พอคนไม่มีงานทำ ก็ไปจับจ่ายใช้สอยลำบาก นี่เป็นตัวที่จะมีผลต่อการบริโภคในระยะต่อไป" นายดอนระบุ

นายดอน ยังกล่าวถึงกรณีที่ในเดือนก.ย. ธปท.ได้เพิ่มปริมาณการออกพันธบัตรระยะยาว 1 ปีมากขึ้นเป็น 50,000 ล้านบาท จาก 40,000 ล้านบาทในเดือนส.ค.ว่า การปรับเพิ่มปริมาณการออกพันธบัตรระยะยาวก็เพื่อต้องการให้สอดคล้องกับสภาพคล่องในประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการลดโอกาสที่จะให้นักลงทุนเข้ามาพักเงินหรือเก็งกำไรในพันธบัตรระยะสั้น

"บอนด์ยาวมันมีความเสี่ยงกับการเคลื่อนไหวของยีลด์มากกว่าบอนด์สั้น เพราะฉะนั้น คนที่เล่นเก็งกำไร ก็จะไม่ค่อยอยากลงในบอนด์ยาว" นายดอน ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ