(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI ส.ค.ขยายตัว 0.52% คาดทั้งปีเฉลี่ย 0.8-0.9% ต่ำเป้า 1% ของธปท. แต่ยังไม่เข้าภาวะเงินฝืด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 2, 2019 12:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือน ส.ค. อยู่ที่ 102.80 ขยายตัว 0.52% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ตลาดคาดราว 0.85%) แต่หดตัว -0.19% จากเดือน ก.ค.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) ขยายตัวเฉลี่ย 0.87%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (CORE CPI) เดือน ส.ค.อยู่ที่ 102.61 ขยายตัว 0.49% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.09% จากเดือน ก.ค.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัวเฉลี่ย 0.55%

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 104.89 เพิ่มขึ้น 2.63% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัวลดลง -0.30% จากเดือน ก.ค.62 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 101.63 หดตัว -0.13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัว -0.67% จากเดือน ก.ค.62

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ส.ค.62 สูงขึ้น 0.52% YoY แต่ชะลอตัวลงจากในเดือน ก.ค.62 ที่ขยายตัว 0.98% โดยสินค้ากลุ่มอาหารสดยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่ยังเป็นการสูงขึ้นในอัตราชะลอตัวที่ 5.15% ขณะที่สินค้ากลุ่มพลังงานยังหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยลดลง 5.16% ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงต่อเนื่องกัน 4 เดือน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 8 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.87% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ส.ค.62 สูงขึ้น 0.49% และเฉลี่ย 8 เดือน สูงขึ้น 0.55%

การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ สอดคล้องกับการหดตัวของดัชนีราคาผู้ผลิตที่ลดลง 1.7% และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่ลดลง 2.3% โดยหมวดอุตสาหกรรมยังลดลงต่อเนื่อง ส่วนหมวดเกษตรกรรมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อหักราคาสินค้าและบริการในหมวดที่เกี่ยวข้องกับพลังงานแล้ว พบว่าเงินเฟ้อในหมวดอื่นๆ ยังคงขยายตัวแต่ในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อน สะท้อนว่าสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว สอดคล้องกับการลดลงอย่างต่อเนื่องของยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

"เงินเฟ้อเดือนนี้ชะลอตัวค่อนข้างมาก มีปัจจัยสำคัญจากการลดลงต่อเนื่องของราคาพลังงาน และการขยายตัวต่อเนื่องของราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด...มีสัญญาณการชะลอตัวของอุปสงค์ ทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุน ควบคู่ไปกับการขยายตัวของการลงทุนในสินค้าทุน ชี้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันยังมีความเสี่ยง และมีปัจจัยทั้งเชิงบวกและลบที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคและนักลงทุน" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

ผู้อำนวยการ สนค.คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8-0.9% ต่ำสุดในรอบ 2 ปี และต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-4% แต่ก็ยังอยู่ในกรอบของกระทรวงพาณิชย์ที่คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้ไว้ที่ 0.7-1.3% สำหรับสาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงและต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของ ธปท. เป็นผลมาจากปัจจัยราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ชะลอตัวลงเป็นสำคัญ นอกจากนี้การแข็งค่าของเงินบาทก็มีส่วนกดดันให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำด้วยเช่นกัน

"เงินเฟ้อทั้งปีนี้คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8% ปลายๆ ไม่ถึง 0.9% ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของแบงก์ชาติ เป็นผลจากฐานราคาน้ำมันที่ส่งผลค่อนข้างแรง เมื่อเทียบกับฐานในปีก่อน จึงดึงราคาน้ำมันลงไปเยอะ และคิดว่าปีนี้ราคาน้ำมันคงไม่เพิ่มขึ้นมากแล้ว" น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ

อย่างไรก็ดี จากสัญญาณการบริโภคภายในประเทศที่ยังชะลอตัว เพราะคนไม่กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอยนั้น ในช่วงไตรมาส 4 คงต้องจับตาผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศให้เพิ่มขึ้นได้มากน้อยเพียงใด แต่ทั้งนี้ เชื่อว่ามาตรการที่ภาครัฐประกาศออกมาจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้ดัชนีต่างๆ ปรับตัวไปในทิศทางที่เข้มแข็งมากขึ้นได้

"ในช่วงที่เหลือของปีนี้ คงต้องดูว่ามาตรการของภาครัฐที่ออกมา จะกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้ดัชนีต่างๆ ดูดีขึ้น เข้มแข็งขึ้นได้มากน้อยเพียงใด แต่เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับผู้มีรายได้น้อย เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร กระตุ้นการบริโภค และเพิ่มในฝั่ง demand side มากขึ้น หวังว่าทั้งเกษตรกร และผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ จะมีการจับจ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนได้ชัดเจนขึ้น" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

พร้อมกันนี้ ยังมั่นใจว่าสถานการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงนี้ ยังไม่ใช่การเข้าสู่ภาวะเงินฝืดอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อสำหรับปีนี้ไว้ที่ 0.7-1.3% โดยมีปัจจัยสมมติฐานจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ระดับ 3.3-3.8% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนทั้งปี อยู่ในกรอบ 31-32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ