ธปท.มองระบบแบงก์ปี 51 ขยายตัวได้ไม่มีข้อจำกัด หลังฐานะการเงินแข็งแกร่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 19, 2008 15:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางฤชุกร สิริโยธิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในปี 51 ธนาคารพาณิชย์สามารถขยายธุรกิจได้ เนื่องจากระบบธนาคารพาณิชย์มีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีขึ้น ประกอบกับธนาคารพาณิชย์บางแห่งมีการเพิ่มทุนรวม 9.5 หมื่นล้านบาท ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15.0 สูงกว่าร้อยละ 8.5 ที่เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำทางกฎหมาย 
"ดูจากปัจจัยปี 50 ความเพียงพอจาก BIS บวกกับแบงก์เพิ่มทุนมากที่ 9.5 หมื่นล้านบาท ยังทำให้สภาพคล่องของแบงก์ยังดีอยู่ น่าจะทำให้ทำกำไรได้ดีต่อเนื่อง ขณะเดียวกันแบงก์สามารถปรับตัวรองรับความผันผวนได้" นางฤชุกร กล่าว
นอกจากนี้ ธปท.ได้สั่งการให้ธนาคาพาณิชย์จัดทำแผนเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งในปีนี้คงจะมีเรื่องความผันผวนของเศรษฐกิจกต่างประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งไม่ได้กระทบกับธนาคารพาณิชย์แต่กระทบเศรษฐกิจไทยด้วย
ขณะที่ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net NPL) ปีนี้มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนที่ Net NPLอยู่ที่ 3.9% และเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์จะเข้มงวดมากขึ้น ขณะเดียวกันเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ดีขึ้น
ส่วนเรื่องของการลงทุนในตราสารหนี้ที่หนุนด้วยสินทรัพย์อ้างอิง (Collateralized Debt Obligations:CDO) มีมูลค่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นซับไพร์ม 10% หรือ 70 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ 0.03% และที่ผ่านมาธนาคารกันสำรองหมดแล้ว ดังนั้นในปีนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
ในช่วงปี 2550 ที่ผ่านมา ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 1.58 แสนล้านบาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายด้านการกันสำรองและภาษีแล้ว มีกำไรสุทธิ 2.5 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปี 2549 ทั้งนี้ระบบธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความเสี่ยงจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ตามมาตรฐานบัญชีระหว่างประเทศ (International Accounting Standard - IAS 39)
ในส่วนของสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 4.6 ชะลอลงจากร้อยละ 5.9 ณ สิ้นปี 2549 จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอลง
อย่างไรก็ตาม สินเชื่อเริ่มมีสัญญาณเร่งตัวดีขึ้น ในไตรมาสที่ 4 ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นของธุรกิจและการบริโภค โดยสินเชื่อภาคธุรกิจซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 76.5 ของสินเชื่อรวมขยายตัวร้อยละ 1.5 ชะลอลงจากปี 2549 ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.5 ของสินเชื่อรวมขยายตัวที่ร้อยละ 16.0 ชะลอลงจากปี 2549 จากที่ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น
ด้านเงินรับฝากขยายตัวร้อยละ 0.5 ชะลอลงมากจากปี 2549 ที่เท่ากับร้อยละ 6.0 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลดลง ผู้ฝากเงินหันไปเลือกรูปแบบการออมอื่น ๆ แทน เช่น กองทุนรวม พันธบัตร ออมทรัพย์ และตั๋วแลกเงิน แต่ถึงกระนั้น สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ก็ยังอยู่ในระดับสูง โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารพาณิชย์สิ้นปีอยู่ที่ร้อยละ 92.8
สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม (gross NPL) มียอดคงค้าง 4.53 แสนล้านบาท โดยมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมลดลงเล็กน้อย จากร้อยละ 7.5 ณ สิ้นปี 2549 เป็นร้อยละ 7.3 และสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (หลังหักสำรองหนี้เสีย) ต่อสินเชื่อรวมลดลง จากร้อยละ 4.1 เป็นร้อยละ 3.9
สินเชื่อภาคธุรกิจมียอด NPL เพิ่มขึ้น 1.7 หมื่นล้านบาทจากสิ้นปีก่อน โดยมีสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อภาคธุรกิจ เป็นร้อยละ 8.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.1 ในขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคมียอด NPL ลดลง 4 พันล้านบาท โดยมีสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่ออุปโภคบริโภคลดลงเล็กน้อย จากร้อยละ 4.8 เหลือร้อยละ 4.0 จากการลดลงของ NPL ของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ