(เพิ่มเติม) กพช.เห็นชอบนโยบาย"โรงไฟฟ้าชุมชน"คาดผลิตไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกินปี 65 กำหนดเกณฑ์ภายใน 1-2 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 11, 2019 15:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โรงไฟฟ้าชุมชน) ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 62 ที่จะช่วยให้ชุมชนมีรายได้จากการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าฯ และลดภาระค่าใช้จ่าย มีรายได้จากการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน เกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน สามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ สร้างมูลค่าเพิ่มในการประกอบอาชีพของชุมชน เช่น ห้องเย็น เครื่องจักรแปรรูปการเกษตร เป็นต้น

โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนทั่วประเทศ และมีระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้ารองรับไฟฟ้าที่จะผลิตจากชุมชน โดยแนวทางการจัดตั้งให้ภาคไฟฟ้ารัฐและ/หรือเอกชนและ/หรือชุมชน ร่วมจัดตั้ง หากพื้นที่ไม่มีศักยภาพจากพืชพลังงานจะส่งเสริมการผลิตจากแสงอาทิตย์ด้วย ตามขนาดกำลังผลิตที่สอดคล้องความต้องการใช้ในพื้นที่

ทั้งนี้ ราคารับซื้อต้องกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด และมีการกำหนดผลประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ส่วนลดค่าไฟฟ้า ส่วนแบ่งผลกำไรจากการดำเนินงาน หรือรายได้จากการขายเชื้อเพลิงจากวัสดุทางการเกษตร โดยอาจมีงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

กพช. มอบให้ กบง. พิจารณารายละเอียดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนตามกรอบนโยบาย เช่น เป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้า พื้นที่ที่ไม่มีข้อจำกัดทางด้านระบบส่งและระบบจำหน่าย และแก้ไขหลักเกณฑ์ กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการเปิดรับข้อเสนอโรงไฟฟ้าชุมชน โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกินปี 65 และนำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป

"ทาง กบง.จะรีบนำไปทำแผนรายละเอียดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชมโดยเร็ว ทั้งด้านการกำหนดพื้นที่เป้า จำนวนโรงไฟฟ้ากี่เมกะวัตต์ รูปแบบร่วมลงทุนจะเป็นอย่างไร โดยคาดว่าใช้เวลา 1-2 เดือน ซึ่งหลักเกณฑ์การกำหนดพื้นที่เป้าหมายในตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน จะเน้นในพื้นที่ปลายสายส่ง พื้นที่ที่เป็นเกาะหรือภูเขา หรือพื้นที่ที่สามารถนำผลผลิตทางการเกษตรมาทำเป็นเชื้อเพลิง โดยวัตถุประสงค์หลักคือ เน้นผลประโยชน์ให้เกิดกับชุมชน เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า และหากเหลือสามารถขายเข้าระบบได้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชม" นายสนธิรัตน์ กล่าว

สำหรับสัดส่วนการลงทุนต้องพิจารณาว่าจะต้องนำเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการหรือไม่ หรือจะให้บริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เข้ามามีส่วนร่วมลงทุน และต้องให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนบริหารจัดการด้วยหรือไม่ โดยรายละเอียดทั้งหมดจะมีการนำเสนอให้การประชุม กพช.ครั้งต่อไป

ส่วนความคืบหน้าเรื่องโซลาร์รูฟท็อปในภาคครัวเรือนนั้น รมว.พลังงาน ยอมรับว่า การดำเนินการที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากความคุ้มค้าต่อการลงทุนยังไม่มีแรงจูงใจมากพอ ซึ่งต้องหาแนวทางทำให้ครัวเรือนสามารถประหยัดค่าไฟได้ และคุ้มทุนที่จะลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้ แต่ยืนยันว่า จะเป็นอีก 1 โครงการที่จะต้องดำเนินการต่อไปหลังจากผลักดันเรื่องโรงไฟฟ้าชุมชน

นายสนธิรัตน์ ยืนยันว่า ยังคงเดินหน้าโครงการ LPG เสรีต่อไป แต่ต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งขณะนี้เกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลายด้านของก๊าซในประเทศ ซึ่งหากจะมีการนำเข้าต้องสอดรับกับปริมาณความต้องการของประเทศ และต้องผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการนำเข้า LPG ของภูมิภาค และต้องทำให้ต้นทุนแก๊สถูกลง

"นโยบายนี้ไม่ใช่ว่าล้ม เพียงแต่ปรับให้สอดรับกับสถานการณ์แก๊สของประเทศไทย ยังคงนโยบายแก๊สเสรี ไม่ได้ล้มนโยบายแก๊สเสรี"นายสนธิรัตน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ