ดีอีหารือ กสทช.เร่งเปลี่ยนผ่านดาวเทียมไทยคม 5 หลังสิ้นสุดระบบสัมปทานเป็น PPP

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 12, 2019 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยภายหลังร่วมพูดคุยและรับฟังข้อมูลการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล กับกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า วันนี้ได้หารือถึงข้อกังวลเรื่องการบริหารจัดการกิจการดาวเทียมที่จะเปลี่ยนระบบการการบริหารจัดการใหม่ โดยเลิกใช้ระบบสัมปทานมาใช้วิธีใหม่ที่ต้องจัดสรรทรัพยากรตามกลไก การส่งเสริมให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership : PPP) ซึ่งการใช้วิธี PPP เป็นเรื่องท้าทาย ขณะเดียวกันต้องทำให้รอบคอบและทันตามกรอบเวลาในการเปลี่ยนแปลงปี 63

พร้อมกันนั้นยังหารือถึงความคืบหน้าโครงการเน็ตประชารัฐ กิจการดาวเทียม การจัดสรรคลื่นความถี่โทรคมนาคม และการเตรียมการพัฒนาเทคโนโลยี 5G โดยเรื่องสำคัญคือการบูรณาการให้บริการโครงการเน็ตประชารัฐ การติดตั้งให้ครบถ้วน และให้ทบทวนว่าที่มีการติดตั้งไปแล้วสามารถใช้งานได้ทั้งหมดหรือไม่

ส่วนโครงการในระยะยาวที่ต้องวางแผนให้บริการกับประชาชน ซึ่งเกิดปัญหาความล่าช้าจะเชิญตัวแทนของบมจ.ทีโอที มาหารือ เพื่อแก้ไขปัญหา

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนที่ได้หารือในวันนี้ คือการบริหารจัดการกิจการดาวเทียม โดยดาวเทียมไทยคม 5 จะสิ้นสุดสัมปทาน กสทช.จึงเสนอให้เร่งรัดเพื่อดำเนินการให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง โดยกระทรวงดีอีแจ้งว่าอยู่ในขั้นตอนของการจ้างที่ปรึกษาการบริหารจัดการดาวเทียม กสทช.ได้แจ้งว่าหากการดำเนินการตามระบบบริหารจัดการใหม่ไม่ทันตามกำหนดกสทช.จะออกมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการไม่ให้เกิดผลกระทบ

นอกจากนี้ กสทช.ยังได้อธิบายถึงการเรียกคืนคลื่นความถี่ของไทยคม 5 ย่านความถี่ 3400-3700 เมกกะเฮิรตซ์ เพื่อนำมาประมูล และการเร่งรัดพัฒนาเทคโนโลยี5G โดยรมว.ดีอีเห็นด้วยกับแนวคิดของกสทช.ที่จะผลักดันให้การขับเคลื่อน 5G เป็นวาระแห่งชาติและมีกรรมการระดับชาติเข้ามาดูแล

กสทช.ยังได้แจ้งถึงการเรียกคืนคลื่นความถี่ 2600 เมกกะเฮิรตซ์ จากบมจ.อสมท. (MCOT) ซึ่งยังมีปัญหาเกี่ยวกับการเยียวยา โดยรัฐมนตรีดีอีได้รับที่จะไปหารือกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูและบมจ.อสมท. เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องนี้ ส่วนการสนับสนุนนโยบายต่อต้านข่าวลวง ได้แจ้งถึงการเสนอแนวคิดที่จะให้ผู้ให้บริการ OTT ตั้งศูนย์ตรวจสอบข่าวลวงเพื่อปิดกันข่าวลวง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ