BAY ปรับคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงเหลือโต 2.9% จากเดิม 3.2% หลังศก.โลกชะลอชัดเจนขึ้น-เทรดวอร์ดุเดือด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 17, 2019 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้ลงเป็นครั้งที่ 3 มาอยู่ที่โต 2.9% จากเดิมที่คาดว่าโต 3.2% ซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลชัดเจนมากขึ้น และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนเริ่มทวีความรุนแรง ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกปรับตัวลดลงเร็วขึ้น

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้น มีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกที่หดตัวลงไป 2.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการหดตัวลงของสินค้าส่วนใหญ่ที่มีการส่งออกมาก เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และยานยนต์ ซึ่งการส่งออกของไทยถือว่ายังมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในสัดส่วน 50% ของ GDP ซึ่งคาดว่าการส่งออกไทยในปีนี้จะติดลบ 2.8%

ขณะเดียวกันการส่งออกที่เกิดการชะลอตัวขึ้น ส่งผลมาถึงการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบราว 80% ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบเชิงลบต่อกำลังซื้อของแรงงานที่จะลดลงไป โดยที่แรงงานส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ คือ กลุ่มแรงงานผู้มีรายได้น้อยที่มีค่าจ้างเฉลี่ยต่ำกว่า 15,000 บาท/เดือน ทำให้มีโอกาสที่การบริโภคในประเทศอาจจะถูกกดดันจากปัจจัยดังกล่าวได้

"ตอนนี้เศรษฐกิจโลกเป็นช่วงขาลง และลงเร็วกว่าที่เราคาดไว้ จะเห็นว่าดัชนีการผลิตของประเทศต่างๆในโลกชะลอตัวลง ทำให้การส่งออกในโลกปรับตัวลงมาก และส่งผลมาถึงการลงทุนของภาคเอกชนที่ชะลอตัวตาม แต่หากสงครามการค้ามีความรุนแรงมากกว่านี้อีกจะทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าช่วงขาลงเร็วขึ้นอีก ซึ่งหากการส่งออกชะลอตัวลงอีกจะกระทบเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะประเทศไทยที่โครงสร้างของประเทศยังไม่แข็งแรง หากการส่งออกชะลอตัวลงไปอีก จะกระทบการลงทุนและการบริโภค ซึ่งล้วนมีผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทย"นายสมประวิณ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงไตรมาส 4/62 ด้วยปัจจัยหนุนจากการผ่อนคลายนโยบายการเงิน คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ต่อปี มาอยู่อีก 1.25% ต่อปี ในการประชุมเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งเป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่นโยบายการคลังเกิดความล่าช้าในการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 63 ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการและประชาชนลง เป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยได้ส่วนหนึ่ง และยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในโครงการช็อป ชิม ใช้ เข้ามาช่วยกระตุ้นได้อีกส่วนหนึ่ง คาดว่า GDP ในช่วงไตรมาส 4/62 จะเติบโตได้ 3.4%

สำหรับค่าเงินบาทในสิ้นปี 62 ธนาคารยังมองว่าอยู่ที่ระดับ 30.50 บาท/ดอลลาร์ โดยคาดว่าหาก กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงเดือน พ.ย.นี้คาดว่าจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้เล็กน้อย ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมันในปีนี้มองว่าอยู่ที่ 66.50 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ซึ่งมองว่าราคาน้ำมันจะไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ถล่มอุตสาหกรรมน้ำมันในซาอุดีอาระเบียซึ่งทำให้กำลังการผลิตน้ำมันหายไป 50% แต่เหตุการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นผลกระทบในระยะสั้น เนื่องจากซัพพลายของน้ำมันในโลกยังมีเพียงพอ โดยเฉพาะสหรัฐฯที่สามารถนำเชลล์ออยล์และเชลล์แก๊สออกมาใช้ได้ อีกทั้งทางซาอุฯ ออกมาประกาศว่าจะกลับมาผลิตได้ตามปกติภายใน 1 สัปดาห์

ด้านการคาดการณ์ GDP ของไทยในปี 63 ธนาคารมองว่าจะเติบโต 3.5% โดยมองว่าในช่วงไตรมาส 1/63 จะมีเม็ดเงินจากภาครัฐอัดฉีดเข้ามาในระบบเป็นจำนวนมาก หลังงบประมาณประจำปีสามารถอนุมัติให้นำออกมาใช้ได้ ประเมินว่าจะมีการใช้นโยบายทางการคลังเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น จึงคาดว่า GDP ในช่วงไตรมาสแรกของปี 63 มีโอกาสเติบโตอย่างโดดเด่น แต่อย่างไรก็ตามหากความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อความเชื่อมั่น ก็อาจจะทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยเข้ามาสู่ภาวะ Recession ได้เช่นเดียวกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ