พาณิชย์ ทบทวนบัญชีท้าย พ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าว สนองนโยบาย Thailand Plus Package

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 19, 2019 11:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงฯ มีนโยบายพัฒนากฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่ใช้ส่งเสริมและกำกับการลงทุนของคนต่างชาติในประเทศไทยให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และส่งเสริมการค้าการลงทุนของประเทศ ตลอดจนเพื่อตอบสนองนโยบาย Thailand Plus Package ที่เร่งรัดการลงทุนและรองรับการย้ายฐานการผลิตจากผลกระทบสงครามการค้า ซึ่งมติคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการด้านความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) โดยเร่งปรับปรุงบัญชีแนบท้ายตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เพื่อการลดอุปสรรคการลงทุนในประเทศไทย

"ขณะนี้กระทรวงฯ มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินการปรับปรุงบัญชีท้ายพระราชบัญญัติฯ โดยปัจจัยหลักในการทบทวนจะให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ตอบสนองนโยบายรัฐบาลในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve เช่น อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) และอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 และเป็นธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการขออนุญาตและกำกับดูแลของภาครัฐ" นายวีรศักดิ์ กล่าว

รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับในปี 2562 กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะเสนอรายการธุรกิจ รวมทั้งข้อมูลธุรกิจที่ได้จากการศึกษาหรือที่มีหน่วยงานเสนอเข้าสู่กระบวนการทบทวนและพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาทบทวนประเภทธุรกิจตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 แล้วจึงนำผลการพิจารณา/ความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ เสนอต่อคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และสรุปความเห็นเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก่อนดำเนินการตามกระบวนการ/ขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อถอดประเภทธุรกิจออกจากบัญชีท้ายพระราชบัญญัติฯโดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงต่อไป

"การปรับปรุงประเภทธุรกิจตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติฯ ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุน เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการขออนุญาตและการกำกับดูแลของภาครัฐ จะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างชาติในการเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เกิดความง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคอาเซียนทำให้เกิดการแข่งขันด้านพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการ เป็นกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย สร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีของประเทศในระยะยาว" นายวีรศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ