(แก้ไข) กกพ.ประกาศผล ERC Sandbox เฟสแรก 34 โครงการ ทดสอบระบบไม่เกิน 3 ปี พร้อมเปิดเฟส 2 ปี 63

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 19, 2019 15:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า โครงการ ERC Sandbox ที่เปิดรับยื่นข้อเสนอเป็นครั้งแรก ได้รับความสนใจมากจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการพลังงานชั้นนำภาครัฐ และเอกชน สถาบันอุดมศึกษา แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวในการที่จะรับมือ และใช้ประโยชน์จาก Technology Disruptive ซึ่งในส่วนของ สำนักงาน กกพ.จะใช้กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อทบทวนและยกระดับกระบวนการกำกับดูแลในความรับผิดชอบเพื่อให้ภาคพลังงานพัฒนาได้อย่างดีและมีเสถียรภาพ

สำหรับในเฟสแรกของการพิจารณาคัดเลือกโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการพลังงาน (ERC Sandbox) มีผู้ผ่านการพิจารณาและได้รับสิทธิเข้าร่วมในโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการพลังงาน (ERC Sandbox) จำนวน 34 โครงการ จากการยื่นข้อเสนอทั้งสิ้น 183 โครงการ

ทั้งนี้ โครงการที่ผ่านการพิจารณาเป็นโครงการทดสอบนวัตกรรม 3 อันดับแรก คือโครงการทดสอบเกี่ยวกับเก็บกักประจุไฟฟ้า (Battery Storage) สูงสุดจำนวน 9 ราย รองลงมาคือ โครงการทดสอบเกี่ยวกับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันโดยไม่ผ่านระบบจำหน่าย (Peer to Peer Energy Trading & Bilateral Energy Trading) จำนวน 8 ราย และโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กไม่ผ่านระบบจำหน่าย (Micro Grid) จำนวน 6 ราย ตามลำดับ

น.ส.นฤภัทร กล่าวว่า ในจำนวนผู้ยื่นโครงการทดสอบนวัตกรรมฯ มีผู้ยื่นโครงการ Peer to Peer Energy Trading & Bilateral Energy Trading สูงถึง 137 ราย จากทั้งหมด 183 ราย รวมไปถึงการยื่นโครงการที่เกี่ยวเนื่องได้แก่ โครงการ Microgrid โครงการ Battery Storage ซึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านพลังงานทดแทนราคาถูกลง รวมทั้งเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่มีความต้องการส่งผลให้มีความต้องการผลิตไฟฟ้าที่ลดการพึ่งพาระบบ และต้องการให้มีการเพิ่มการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งสำนักงาน กกพ. ยังคงต้องมีการพิจารณาสถานการณ์ที่เหมาะสม ทั้งในแง่ระยะเวลา และปริมาณการแข่งขันประกอบด้วย

นอกจากนี้ สำนักงาน กกพ. ยังพบว่าแนวโน้มของราคาเทคโนโลยีของระบบ Battery Storage ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จะเป็นโอกาส และจังหวะที่ดีในการสนับสนุนให้มีการพัฒนาในประเทศและได้มีการอนุมัติโครงการที่เกี่ยวข้องในรอบนี้ถึง 9 โครงการ จากที่ยื่นมาทั้งหมด 11 โครงการ เพื่อมุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศอีกทางหนึ่งด้วย

ในส่วนของการสนับสนุนนโยบายการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายพลังงานในภูมิภาคอาเซียน หรือ Thailand Energy Hub ของรัฐบาล และแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ยังได้มีการพิจารณาอนุมัติโครงการสนับสนุนธุรกิจการค้าก๊าซธรรมชาติผ่านสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว เพื่อเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ผลักดันให้เกิดศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติในไทย และยังคาดว่าจะส่งผลดีต่อราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศถูกลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนต่อไปโครงการที่ได้รับสิทธิ์ดังกล่าว จะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกับ สำนักงาน กกพ.จนได้ข้อสรุปจึงจะมีการลงนามในหนังสือยืนยันการเข้าร่วมโครงการระหว่างกัน และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จทั้ง 34 โครงการ ภายในสิ้นปี 2562

"ต้องดูตอนทำ action plan ซึ่งมีหลาย step บาง step อาจจะดูว่าไม่ใช่ ต้องอาจมีการพิจารณาเพิ่มเติม ก็ต้องมาตกลงในประเด็นนี้ ถ้าตกลงได้ก็ลงนามหนังสือยืนยันเดินหน้า ถ้าเดินหน้าระดับหนึ่งแล้วมีผลก็ต้องพิจารณาประเมินผลว่าเดินหน้าต่อได้ไหม ถ้าไม่ได้ก็หยุด แต่ถ้าไปได้ก็พัฒนาไปสู่ทางปฏิบัติได้"น.ส.นฤภัทร กล่าว

น.ส.นฤภัทร กล่าวอีกว่า สำหรับระยะเวลาการดำเนินการทดสอบของแต่ละโครงการจะไม่เท่ากัน แต่จะอยู่ภายในกรอบไม่เกิน 3 ปี ซึ่งหากทดสอบได้เร็วก็จะเป็นสิ่งที่ดี เพราะทุกฝ่ายจะได้เรียนรู้ร่วมกัน โดยกกพ.จะรู้ได้ว่าการดำเนินการของแต่ละโครงการมีปัญหาหรืออุปสรรค ตลอดจนกฎระเบียบใดที่ต้องแก้ไข ก็จะได้นำมาปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความเหมาะสมต่อไป ส่วนภาคเอกชนหรือองค์กรที่ได้รับคัดเลือกก็จะสามารถดำเนินโครงการในพื้นที่ได้ต่อไปจากเดิมที่การดำเนินการอาจจะติดขัดกฎระเบียบหลายข้อทำให้ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้

การดำเนินการในรูปแบบ ERC Sandbox ครั้งนี้นับเป็นการผ่อนผัน ผ่อนปรนให้ภาคเอกชนหรือองค์กรที่ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินการพิเศษในพื้นที่และระยะเวลาที่จำกัด ส่วนจะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์หรือข้อกฎหมายใด ๆ ต่อไปในอนาคตนั้นก็ต้องมีการหารือกับภาคนโยบายต่อไป ซึ่งการจะออกกฎระเบียบใด ๆ ของกกพ.ก็จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วย

ส่วนโครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปีหน้า หลังจากที่ได้ดำเนินการทดลองในระยะแรกและติดตามประเมินผลมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะทำให้มีการแนวคิดใหม่หรือนวัตกรรมรูปแบบใหม่ ที่จะนำมาทดสอบเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันต่อไป เพื่อให้เกิดการปรับปรุงกฎระเบียบในการกำกับดูแลให้มีความเหมาะสม และจะมีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างอย่างไร

"โครงการที่ผ่านการคัดเลือกเราดูว่ามีความน่าสนใจ เช่น มีเทคโนโลยี Energy Trading ตัวใหม่อาจเป็นตัวที่เขาพัฒนาเอง เอามาในช้ใน Community แบบนี้ เป็นลักษณะชุมชนมหาวิทยาลัย เรามองหลายประเด็น อาจจะมีความพร้อมอย่างมีโซลาร์ด้วย มีไบโอด้วย มีการใช้พลังงานอย่างผสมผสานในพื้นที่ อย่างในพื้นที่มหาวิทยาลัย ก็มีการพัฒนานวัตกรรมในตัวเขาเอง ก็มาศึกษาร่วมกันว่าต้องปรับอะไรต่อในเชิงของงานการกำกับดูแล ต้องดูด้วยว่ามีผลกระทบเยอะไหม ดูความเหมาะสมหลายอย่าง"น.ส.นฤภัทร กล่าว

สำหรับรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าร่วม ERC Sandbox ทั้ง 34 โครงการ ประกอบด้วย

1. โครงการบริหารจัดการพลังงาน Town 77 ของบมจ.บีซีพีจี (BCPG)

2. โครงการนำร่องการให้บริการรับส่งพลังงานไฟฟ้าผ่านระบบ โครงการข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและลูกค้าของผู้ผลิตไฟฟ้า ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

3. โครงการ Eco-living through smart energy innovations ของสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

4. โครงการที่ 2: การสร้างต้นแบบระบบการซื้อขายไฟฟ้าลักษณะ Peer-to-Peer ภายใต้ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเอกชน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง ของบมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL)

5. โครงการซื้อขายไฟฟ้าผ่านคนกลาง บน ESS Platform ของบริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด

6. โครงการ Virtual Net Metering ของบริษัท นอร์ติส ไรซ์ จำกัด

7. โครงการ MEA Energy Trading Platform (METP) ของการไฟฟ้านครหลวง

8. โครงการศรีแสงธรรมโมเดล ของโรงเรียนศรีแสงธรรม

9. โครงการพัฒนาต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการศึกษาและพัฒนา ของ BCPG

10. โครงการ ENGY Energy is yours ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

11. โครงการ TU EGAT ENERGY ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

12. โครงการ RIL Smart Industrial Estate ของ บริษัท อาร์ ไอ แอล 1996 จำกัด

13. โครงการศึกษาระบบจำหน่ายไฟฟ้า แบบ Peer to Peer ผ่านการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานแก๊สชีวภาพเพื่อให้สามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้เหมาะสม ที่มหาวิทยาลัยนครพนม ของบริษัท วิสาหกิจเพื่อสังคมและพลังงานชุมชน จำกัด

14. โครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้าชุมชนฉลาดภายในมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ : ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแบบผสมผสานกระแสตรงและกระแสสลับ ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานชีวภาพสำหรับชุมชนต้นแบบและมหาวิทยาลัยสีเขียว ของมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่

15. โครงการพื้นที่ทดสอบมหาวิทยาลัยอัจฉริยะด้านพลังงานของจุฬา:การรับซื้อไฟฟ้าแบบ Peer to Peer อาคารอัจฉริยะ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) การไฟฟ้านครหลวง

16. โครงการ Gateway City Industrial Estate Smart Grid ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บมจ.จีเอ็มเอส พาวเวอร์ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท อินโนเวทีฟ เอ็นเนอร์ยี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด บริษัท นีโอ คลีน เอนเนอร์ยี่ จำกัด บมจ.เอ็ม ดี เอ็กซ์ (MDX)

17. โครงการ Energy Deposit Service by Virtual Battery ของการไฟฟ้านครหลวง

18. โครงการศึกษาโครงสร้างอัตราค่าบริการรูปแบบใหม่ และการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Net Metering , Net Billing กรณีผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Partial Generator) และ Solar Cell ของบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด

19. โครงการศึกษาโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า จากพฤติกรรมผู้ใช้ร่วมกับการลำดับความสำคัญและควบคุมโหลดไฟฟ้าและแหล่งผลิตไฟฟ้าอย่างเหมาะสม ของ EA

20. โครงการจัดทำแพลตฟอร์มการบริหารจัดการแหล่งพลังงานกระจายตัวสำหรับการใช้พลังงานที่เหมาะสมและการตอบสนองด้านความต้องการไฟฟ้า ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

21. โครงการระบบบริหารจัดการ การตอบสนองด้านความต้องการไฟฟ้าและระบบบริหารจัดการพลังงานแบบอัตโนมัติ (Automated Demand Response) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

22. โครงการระบบกักเก็บพลังงานและการแชร์พลังงานจากรถยนต์ไฟฟ้า ของบริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด

23. โครงการ Sun Share Smart Green Energy Community ของ BCPG

24. โครงการ Regional LNG Hub ของบมจ.ปตท. (PTT)

25. โครงการการศึกษาและพัฒนาศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวผ่านสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี ของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด

26. โครงการ Smart Battery Energy Storage in Samui Island ของบมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF)

27. โครงการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) และระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System) ที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

28. โครงการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่สถานีไฟฟ้าด่านขุนทดจังหวัดนครราชสีมา และสถานีไฟฟ้าโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

29. โครงการ Energy Bank At เกาะพงัน ของบริษัท คอนสแตนท์ เอนเนอร์จี โซลาร์ (ประเทศไทย) จำกัด

30. โครงการระบบกักเก็บพลังงานสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ของบริษัท พัฒนาพลังงานธรรมชาติ จำกัด

31. โครงการการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าด้วยพลังงานลม ร่วมกับระบบสะสมพลังงานเพื่อปรับปรุงคุณภาพไฟฟ้าและเพิ่มเสถียรภาพในระบบจำหน่าย ขนาด 22,000 โวลต์ ของ GUNKUL

32. โครงการบริหารจัดการพลังงาน นาลมลิกอร์ ของบริษัท ลมลิกอร์ จำกัด

33. โครงการระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่เพื่อการจัดการพลังงานหมุนเวียน ของ EA

34. โครงการระบบการกักเก็บพลังงานเพื่อการสนับสนุนเขตเศรษฐกิจและชุมชน ของบมจ.เอสพีซีจี (SPCG)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ