(เพิ่มเติม) "อนุทิน" ขีดเส้นกลุ่มซีพีลงนามสัญญาไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินภายใน 15 ต.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 23, 2019 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่ากลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อธิบดีกรมขนส่งทางราง และ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรว่า ที่ประชุมมีมติให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) จัดประชุมในวันที่ 27 ก.ย. 62 เวลา 16.00 น. และให้ทำหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นข้อเสนอมาลงนามในสัญญาในวันที่ 15 ต.ค. 62

"คณะกรรมการได้ยืนยันกับผมว่าได้ให้เวลามาพอสมควรแล้ว ได้มีการรับเงื่อนไขต่างๆ ที่จะรับได้ภายใต้กรอบระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อภาครัฐ และกรอบร่วมลงทุนทุกอย่าง ทุกประการ วันนี้ไม่ต้องมีอะไรเจรจาอีกแล้ว วันที่ 15 ตุลาคมนี้ต้องมีการเซ็นสัญญากัน การกำหนดนี้เป็นสิทธิ์ของคณะกรรมการคัดเลือก"นายอนุทิน กล่าว

ทั้งนี้ หากกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ซีพี) และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) มาลงนาม ให้ดำเนินการตามสัญญา แต่หากไม่ลงนามในสัญญาจะถูกริบหลักประกันซอง และอาจถูกพิจารณาเป็นผู้ทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการ

แต่หากกลุ่ม CPH ไม่มาลงนาม คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) จะเชิญผู้ยื่นข้อเสนอรายที่ 2 มาเจรจาต่อไป

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า หากไม่ดำเนินการตามสัญญา ภายในวันที่ 7 พ.ย. จะหมดระยะเวลายืนราคา ถ้าภาครัฐไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ ความผิดจะตกกับภาครัฐจะเกิดความเสียหายมหาศาล ทางเดียวที่ทำได้คือ มาลงนามตามสัญญา

พร้อมย้ำว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะมีโครงการไหนสามารถส่งคืนพื้นที่ได้ครบ 100% ซึ่งพื้นที่ไหนมีปัญหาสามารถมาขอขยายเวลาได้ เพราะโครงการส่วนใหญ่ทั้งของภาครัฐและเอกชนไม่มีโครงการไหนเสร็จได้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้

"เราอยากให้ผู้ชนะที่ 1 ได้งาน ถ้าไม่มาลงนามมีผลต่อเนื่องเยอะแน่ และอะไรตามที่เกิดความเสียหายต่อจากนั้นก็ยังคงต้องรับผิดชอบในทางแพ่งต่อไป ทางออกไม่ค่อยมี นอกจากรีบมาลงนามและช่วยกันทำงานโดยเร็ว"นายอนุทิน กล่าว

อนึ่ง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มี 2 กลุ่มเข้าร่วมประมูล โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย), บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) , China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน), บมจ. ช.การช่าง (CK), บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)

ส่วนอีกกลุ่ม คือ กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS), บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC), บมจ. ราช กรุ๊ป (RATCH)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ