รมว.คลัง ยันรัฐบาลออกมาตการกระตุ้นศก.รวดเร็ว ตรงจุด มีประสิทธิภาพ เชื่อพร้อมรับมือวิกฤติศก.โลกได้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 23, 2019 18:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนา "The NEXT Thailand 4.0 : ทางออกเศรษฐกิจ ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก" โดยระบุว่า จากความเห็นของตนเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกยังไม่เกิดวิกฤติ แต่ไทยก็ต้องไม่ประมาท เพราะการส่งออกได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ต้นปี เมื่อรัฐบาลเข้ามาก็ได้ออกชุดมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทันที เนื่องจากมีบทเรียนวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 มาแล้ว ดังนั้น จึงต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้รวดเร็ว ตรงจุด และมีประสิทธิภาพ

"อย่างมาตรการท่องเที่ยว เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จะเป็นตัวขับเคลื่อน การท่องเที่ยวยึดโยงกับการค้าขาย แรงงาน ดังนั้นถ้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็กระตุ้นจากภายในประเทศ ขณะที่ความต้องการในต่างประเทศลดลง ถ้าจับจ่ายใช้สอย ช่วยกันซื้อก็หมุนเวียนในประเทศ จะประคองไปได้ อย่างมาตรการชิมช็อปใช้ เพื่อให้มีการจับจ่ายใช้สอยระหว่างกัน ร้านค้าชุมชนก็อยู่รอดได้ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ดูแลภาคเกษตร เช่น ข้าว ที่มีการประกันรายได้" รมว.คลังระบุ

อย่างไรก็ดี การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเพียงช่วงเวลาระยะหนึ่งเท่านั้น และต้องใช้ให้ถูกจุดเพื่อลดผลกระทบเศรษฐกิจภายนอก แต่จะไม่ได้ใช้ไปตลอด

"สิ่งที่ทำเราทำ จะได้แค่ไหน เพราะไม่มีใครรู้ว่าเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจข้างนอกจะเป็นอย่างไร แต่เราทำอย่างเต็มที่" นายอุตตมระบุ

รมว.คลัง กล่าวว่า จากล่าสุดที่ธนาคารโลก (World Bank) ให้ข้อมูลว่าไทยหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ต่ำแล้ว โดยถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างไปทางสูง แต่ไทยก็จำเป็นต้องปรับโครงสร้าง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในประเทศต่อไป

อย่างไรก็ดี การปรับโครงสร้างนั้นต้องเปลี่ยนจากการเน้นอุตสาหกรรมเดิมที่เป็นผู้ผลิตให้กับรายใหญ่ และได้มูลค่าการส่งออกสูง ก็ควรจะปรับมาเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น หรือผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งมีการพัฒนาบุคลากรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และตอบโจทย์อุตสาหกรรมที่จะสนับสนุนให้เกิดในประเทศ ซึ่งทั้งหมดจะต้องทำแบบองค์รวม เพื่อให้ปัจจัยเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศ

ขณะที่ภาคประชาชน ภาครัฐได้สร้างความเข้มแข็งด้วยการสร้างโอกาสให้กับประชาชนระดับฐานราก โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางของพื้นที่ต่างๆ เพื่อรวมกลุ่มให้ประชาชนระดับฐานรากมีผู้นำ โดยเฉพาะการนำการผลิตที่ให้มูลค่าสูง ที่ต้องลงไปเจาะดูตามพื่นที่เพื่อให้เกิดผลชัดเจนว่าแต่ละพื้นที่มีจุดเด่นและความต้องการใดบ้าง โดยใช้ความแตกต่างกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด

"ไทยเราก็ทำแบบญี่ปุ่นได้ เราต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง สร้างเศรษฐกิจภายในให้เข้มแข็ง นำเทคโนโลยีเข้ามา ซึ่งไม่ใช้การให้เงินอย่างเดียว แต่หน้าที่รัฐบาลคือทำอย่างไร ให้โอกาสนี้กระจายไปถึงคนตัวเล็ก ถึงชุมชน" นายอุตตม กล่าว

อย่างไรก็ดี สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน ในส่วนของเงินช่วยเหลือผู้ปลูกข้าวนาปี ไร่ละ 500 บาทนั้น เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการเพื่อให้เกษตรกรมีเงินช่วยเหลือในการต่อยอดการผลิต แต่ในอนาคตเชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น การอุดหนุนเงินให้กับเกษตรกรจะลดลง เพราะเกษตรกรจะมีกำลังเพียงพอในการพัฒนาการผลิตเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรได้เอง ซึ่งก็จะทำให้ภาคการเกษตรแข็งแกร่งขึ้นได้

ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยระบุว่าโครงการประชารัฐสร้างไทย เป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานรากไม่ตรงจุด เนื่องจากเกษตรกรไม่ได้ต้องการเงินทุนเพื่อการผลิต เพราะเกษตรกรไม่ต้องการผลิต และไม่มีตลาดรองรับการผลิตนั้น รมว.คลัง ยืนยันว่า มาตรการเศรษฐกิจฐานราก เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนในระดับล่างมีความเข้มแข็ง และสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยโครงการดังกล่าวเน้นทั้งการพัฒนาภาคการผลิต บริการ รวมถึงการสร้างตลาดเพื่อกระจายสินค้าเกษตรได้มากขึ้น และเป็นการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลมองเห็น

"แนวทางนี้ รัฐบาลดูแลเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ต่อเนื่อง ซึ่งตรงนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ที่ทำให้ประชาชนฐานรากมีพื้นฐานที่ดีในการวางรากฐานการผลิต และการตลาดที่เข้มแข็งให้กับเกษตรกร" นายอุตตม กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ