ครม.เห็นชอบแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบ 63 เน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการใช้เงินอยู่ภายใต้กรอบพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 24, 2019 16:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 โดยเป็นการเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการใช้เงินอยู่ภายใต้กรอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

สำหรับแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 8.9 แสนล้านบาท 2.แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 8.3 แสนล้านบาท และ 3.แผนการชำระหนี้ วงเงิน 3.9 แสนล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 8.9 แสนล้านบาท แบ่งเป็น การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล (7.4 แสนล้านบาท) และการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ (1.4 แสนล้านบาท)

โดยการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล วงเงิน 7.4 แสนล้านบาท จะเป็นการกู้เพื่อ 3 วัตถุประสงค์ คือ

1) บริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง วงเงิน 9 หมื่นล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องเงินคงคลังให้เพียงพอรองรับการเบิกจ่ายเป็นครั้งคราว รวมถึงรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาลในช่วงไตรมาสที่ 1 และ2 ของปีงบประมาณ 2563 โดยการออกตั๋วเงินคงคลังระยะสั้นไม่เกิน 120 วัน

2) กู้มาใช้โดยตรง วงเงิน 5.7 แสนล้านบาท แบ่งเป็นจากแหล่งเงินกู้ในประเทศ เป็นการกู้มาเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปี 2563 และเงินกู้ต่างประเทศเพื่อมาใช้ในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนการลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค ของกระทรวงศึกษาธิการ

3) รัฐบาลกู้มาให้กู้ต่อ ใช้เงินจากแหล่งเงินกู้ในประเทศ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ วงเงิน 8.5 หมื่นล้านบาท เป็นโครงการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 5 โครงการ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท เป็นโครงการต่อเนื่องทั้งหมด และโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 9 โครงการ วงเงิน 6.5 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยทั้งโครงการต่อเนื่องและโครงการใหม่

ส่วนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 13 แห่ง วงเงินรวม 1.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิม 8.7 หมื่นล้าน เช่น การเคหะแห่งชาติ (กคช.) 4 พันล้านบาท, การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) 6 พันล้านบาท, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 2 หมื่นล้านบาท, การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 1.4 หมื่นล้านบาท, บมจ.การบินไทย (THAI) 5.6 หมื่นล้านบาท (เป็นการกู้เพื่อดำเนินโครงการ/เสริมสภาพคล่อง)

น.ส.รัชดา กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การกู้เงินของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ไว้ว่าต้องมีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบเท่ากับภาระหนี้ของกิจการนับแต่มีการก่อหนี้ในอัตราไม่ต่ำกว่า 1 เท่า ซึ่งการบินไทยยังอยู่เหนือเกณฑ์ขั้นต่ำ จึงสามารถขอกู้ได้ แต่ต้องไปดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการ เพราะผลประกอบการขาดทุนและมีสถานะของการขาดสภาพคล่อง

2. แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 8.3 แสนล้านบาท ประกอบด้วยหนี้เดิมของรัฐบาล (หนี้ในประเทศทั้งหมด) วงเงิน 6 แสนล้านบาท และหนี้เดิมของรัฐวิสาหกิจ (ทั้งหนี้ในประเทศและต่างประเทศ) วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท

3. แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 3.9 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ แผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2563 อยู่ภายในกรอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่กำหนดไว้ว่า 1. สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ต้องไม่เกิน 60% ซึ่งการดำเนินงานปี 2563 อยู่ที่ 42.76% 2.สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ ต้องไม่เกิน 35% ซึ่งการดำเนินงานปี 2563 อยู่ที่ 18.48% 3. สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด ต้องไม่เกิน 10% ซึ่งการดำเนินงานปี 2563 อยู่ที่ 2.86% 4.สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ ต้องไม่เกิน 5% ซึ่งการดำเนินงานปี 2563 อยู่ที่ 0.15%

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนก.ค.62 ว่ามีจำนวน 6.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 41.45% ของ GDP ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา50 ที่กำหนดกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ ให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกิน 60%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ