"อนุทิน"สั่งคมนาคมหาข้อสรุปรูปแบบลงทุนรถไฟสีส้มตะวันตกภายใน 2 สัปดาห์ หลังคลังเสนอรัฐลงทุนโยธา-เอกชนเดินรถ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 25, 2019 19:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข มอบหมายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังไม่ได้ข้อสรุปโครงการดังกล่าว

นายอนุทิน กล่าวภายหลังเรียกประชุมหารือความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตกในช่วงบ่ายวันนี้ว่า ได้เชิญ กระทรวงคมนาคม การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ และสำนักบริหารหนี้ มาหารือถึงโครงการดังกล่าว เนื่องจากในระหว่างการประชุมครม.เศรษฐกิจ มีข้อเสนอแนะจากกระทรวงการคลังว่าไม่ขัดข้องให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนการเดินรถ เพราะเมื่อคิดเรื่องต้นทุนหากรัฐลงทุนงานด้านโยธาจะประหยัดงบประมาณมากว่า ขณะที่ทาง รฟม.เสนอให้ใช้รูปแบบเอกชนร่วมทุน (PPP) จึงได้เชิญทุกหน่วยงานมาหารือ

"ฟังดูแล้ว หน่วยงานที่เชิญมาค่อนข้างเห็นคล้อยกับกระทรวงการคลัง แต่สบน.บอกว่า นี่คือความเห็นของกระทรวงการคลัง แต่จะทำ PPP หรือไม่ไม่ขัดข้อง ซึ่งอย่างนี้โยนเผือกกลับมาไม่ได้ ผมไม่ยอม ผมเลยบอกว่า ผมต้องการโซลูชั่นเดียว ไปฟันธงมา แล้วผมพิจารณาว่าอะไรดีที่สุด"นายอนุทิน กล่าว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้คณะกรรมการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน (PPP ) มีมติเห็นชอบให้ใช้รูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา และลงทุนค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาทั้งเส้นทางด้านตะวันตก-ตะวันออก บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ระยะเวลาสัญญาเดินรถ 30 ปี

นายอนุทิน กล่าวว่า หากใช้รูปแบบ PPP ผู้ชนะจะได้สิทธิเดินรถเส้นทางทั้ง 2 ฝั่ง คือ ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก จึงต้องมาพิจารณาดูว่าผลตอบแทนเหมาะสมหรือไม่ รวมทั้งต้องมองในด้านการกระจายรายได้ และการประหยัดต้นทุนด้วย ซึ่งทางผู้ว่า รฟม.ไม่ได้กังวลเรื่องงบประมาณที่จะใช้ในโครงการ แต่ต้องการทราบความชัดเจนว่าจะเลือกแนวทางใด

ด้านนายศักดิ์สยาม กล่าวว่า นายอนุทิน ได้มอบหมายให้ตนเป็นประธานในการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือในรายละเอียดทั้งหมดและสรุปแนวทางการลงทุนที่มีความเหมาะสม ภายใต้หลักการคือ 1. ประชาชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด 2. ภาครัฐไม่เสียเปรียบและไม่เป็นภาระงบประมาณ 3. เอกชน มีผลประกอบการที่สามารถดำเนินการได้

ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังและสบน.ได้มีความเห็นว่า รูปแบบที่รัฐลงทุนก่อสร้างงานโยธาเองจะมีต้นทุนต่ำกว่าให้เอกชนลงทุน จึงต้องดูข้อมูลการศึกษาให้ชัดเจน เนื่องจากหากเลือกการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้มด้านตะวันตกรูปแบบใดแล้วจะเป็นโมเดลที่จะนำไปใช้กับการลงทุนรถไฟฟ้าสายต่อไป ดังนั้นต้องเลือกรูปแบบที่ดีที่สุด และเป็นมาตรฐาน ซึ่งต้องตอบให้ได้ว่า ดีและเหมาะสมอย่างไร

"ต้องอธิบายได้ว่า ทำไมเลือกรูปแบบที่ให้เอกชนลงทุน 100% เพราะแนวทางของสายสีส้มจะมีผลผูกพันไปถึงการดำเนินงานของรถไฟฟ้าสายอื่นๆ อีก ที่ควรเป็นโมเดลเดียวกัน ไม่ใช่วันนี้ สายสีส้มใช้แบบนี้ ต่อไปสายสีม่วงใต้ใช้อีกรูปแบบหนึ่ง จะอธิบายอย่างไร เรื่องสำคัญคือ 3 ฝ่ายต้องไปด้วยกันได้ ประชาชน รัฐ และเอกชนผู้ประกอบการ โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์กับประชาชนก่อน"นายศักดิ์สยาม กล่าว

นอกจากนั้นในการประชุมวันนี้ยังหารือโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน โดยได้มีการสั่งให้คณะกรรมการคัดเลือกและหน่วยงานที่เกี่วข้องไปเจรจากับทางกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่ม CPH ให้จบเรียบร้อย เรื่องใดสามารถยอมได้ก็ควรจะยอมไปเพื่อให้งานเรียบร้อย โดยเฉพาะสัญญาแนบท้าย ซึ่งหากตกลงได้ทั้ง 2 ฝ่ายก็ไม่มีปัญหา หากไม่ได้ก็ต้องอิงกับ TOR โดยยังยืนยันว่าต้องมีการเดินหน้าลงนามในสัญญาภายในวันที่ 15 ต.ค.นี้

"ธงที่มอบให้ไปต้องไม่มีการประมูลใหม่ คนที่ชนะต้องได้งาน คนที่แพ้ต้องไม่ได้งาน ถ้าชนะด้วยราคานี้ ก็ต้องรับงานตามราคานี้ตามTOR ทุกอย่าง"นายอนุทิน กล่าว

ขณะที่นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ได้เสนอต่อที่ประชุมให้ทำตารางแยกเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) แต่ละข้อ และทำข้อมูลความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย ในแต่ละเรื่องให้ชัดเจน รวมถึงผลการเจรจาแต่ละข้อ ว่าได้มีข้อยุติแล้วอย่างไร เพื่อสรุปเสนอต่อนายอนุทินภายในวันที่ 26 ก.ย.

การแยกหัวข้อใน RFP เป็นตารางเพื่อให้เห็นชัดเจนว่าแต่ละเงื่อนไขเป็นอย่างไร ซึ่งเท่าที่รับฟังเบื้องต้นการเจรจากับกลุ่มซีพี และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ได้ข้อยุติแล้ว อย่างไรก็ตาม ได้ตั้งข้อสังเกตไปว่าต้องไม่มีอะไรที่นอกเหนือจาก RFP ใครเขียนเพิ่มเติมไปก็ต้องรับผิดชอบ เพราะต้องไม่มีค่าโง่ และหากเลยกำหนดการยืนราคาวันที่ 7 พ.ย.62 แล้วยังไม่แล้วเสร็จ ก็ต้องมีคนรับผิดชอบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ