คลัง เผยเศรษฐกิจภูมิภาคส.ค.ส่วนใหญ่ทรงตัว เว้นภาคเหนือ-กลางขยายตัวได้เล็กน้อย ส่วนภาคอีสานชะลอตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 26, 2019 15:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม ปี 2562 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนสิงหาคม 2562 ปรับตัวชะลอลงจากเดือนก่อนจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจภาคเหนือ และภาคกลาง ขยายตัวได้เล็กน้อย ทั้งนี้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีในหลายภูมิภาค สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี

โดยภาคเหนือ เศรษฐกิจขยายตัวจากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจสะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนสะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนสิงหาคม 2562 ขยายตัว6.9% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดพิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ และลำปางเป็นต้น อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนสะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนสะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2562 ขยายตัว 3.2% ต่อปี สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการอยู่ที่ 6,843 ล้านบาท จากการลงทุนในโรงงานผลิตเอทิลแอลกอฮอล์ในจังหวัดนครสวรรค์เป็นสำคัญ

สำหรับด้านอุปทาน ด้านภาคการท่องเที่ยว พบว่ารายได้จากการเยี่ยมเยือนของคนต่างประเทศขยายตัว 4.0% ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดีสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ 1.0% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค ภาคกลาง เศรษฐกิจขยายตัวจากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจสะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนสิงหาคม 2562 ขยายตัว 3.6% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดลพบุรี สระบุรี และอ่างทอง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2562 ขยายตัว 13.8% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี และสิงห์บุรี สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ อยู่ที่ 74,591 ล้านบาท จากการลงทุนในโรงงานประกอบแบบโครงสร้างสะพานและโครงสร้างอาคารจากโลหะในจังหวัดสระบุรี และโรงงานผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

สำหรับด้านอุปทาน ด้านภาคการท่องเที่ยว พบว่า รายได้จากการเยี่ยมเยือนของคนต่างประเทศคนต่างประเทศ ขยายตัว 3.0% ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ -0.1% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ 1.7% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ส่วนภาคใต้ เศรษฐกิจทรงตัว จากการขยายตัวดีของการบริโภคภาคเอกชน แต่การการลงทุนและภาคการท่องเที่ยวปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนสิงหาคม 2562 ขยายตัว 2.3% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดนครศรีธรรมราช ปัตตานี นราธิวาส เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2562 ขยายตัว 3.1% และ 7.4% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดสงขลา สตูล และตรัง เป็นต้น

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน สะท้อนจากเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการและเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนสิงหาคม 2562 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน อย่างไรก็ดี ยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 9.3% ต่อปี ตามการขยายตัวในหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ สตูล และนราธิวาส เป็นต้น

สำหรับด้านอุปทาน ด้านภาคการท่องเที่ยว พบว่า รายได้จากการเยี่ยมเยือนของคนต่างประเทศศขยายตัว 2.3% ต่อปี ในขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยลดลงที่ -5.5% ต่อปี สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ 0.3% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ 1.4% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจทรงตัว จากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน แต่ภาคการท่องเที่ยวปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนสิงหาคม 2562 ขยายตัว 4.6% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดราชบุรี และสมุทรสงคราม เป็นสำคัญ ในขณะที่ยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2562 ขยายตัว 0.6% และ -2.9% ต่อปี ตามลำดับ

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน สะท้อนจากเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ 1,276 ล้านบาท จากการลงทุนในโรงงานผลิตน้ำดื่มผสมวิตามิน น้ำผลไม้ และน้ำพืชผักในจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นสำคัญ สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ อยู่ที่ 2,341 ล้านบาท จากการลงทุนโรงงานทำอาหารผสม หรืออาหารสำเร็จรูปสำหรับสัตว์ในโรงงานสุพรรณบุรี เป็นต้น

สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยว ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ -0.1% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่0.9% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจทรงตัว การขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน แต่การบริโภคและภาคการท่องเที่ยวปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2562 ขยายตัว 10.9% ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะสมุทรปราการ นครปฐม และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีมูลค่า ณ ระดับราคาคงที่ และยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2562 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน

ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2562 ขยายตัว 3.4% ต่อปี จากการขยายตัวในกรุงเทพมหานคร และสมุทรสาครเป็นสำคัญ สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ 4,346 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดสมุทรปราการและปทุมธานี เป็นต้น

สำหรับด้านอุปทานโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว พบว่า รายได้จากการเยี่ยมเยือนของคนต่างประเทศขยายตัว 4.2% ต่อปี ในขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวคนไทยลดลงที่ -5.4% ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคในภูมิภาคที่ 0.4% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ 1.3% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจทรงตัว จากการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2562 ขยายตัว 16.6% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดระยอง ชลบุรี และปราจีนบุรี เป็นต้น สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ 2,958 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และชลบุรี เป็นต้น ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชน ในเดือนสิงหาคม 2562 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน

สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว พบว่ารายได้จากการเยี่ยมเยือนของคนต่างประเทศขยายตัว 5.5% ต่อปี ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวคนไทยลดลงที่ -7.8% ต่อปี ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ในเดือนสิงหาคม 2562 ที่ยังคงอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 22 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ 111.0 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอลูมิเนียม อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น และอุตสาหกรรมเคมี เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ 0.3% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ขณะที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจชะลอตัว การปรับตัวลดลงของการบริโภคภาคการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวสะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ จากการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนสิงหาคม 2562 หดตัวลงเล็กน้อย -0.6% ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวลงที่ -1.2% และ -8.7% ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดีเงินลงทุนโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ 1,436 ล้านบาท จากการลงทุนเพิ่มในโรงงานเก็บลำเลียงเมล็ดพืชหรือผลิตผลจากพืชในไซโล โกดัง หรือคลังสินค้าที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นสำคัญ

สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยว ปรับตัวลดลงเช่นกัน สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2562 ลดลง -5.1% ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคในภูมิภาคที่ 1.2% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ 0.5% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ