(เพิ่มเติม) ผู้ว่า ธปท.รับเศรษฐกิจไทยชะลอแต่ยังไม่วิกฤติ, แจงปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้จากผลกระทบการค้าโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 30, 2019 13:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบที่ผ่านมาได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือขยายตัว 2.8% สาเหตุสำคัญเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบรุนแรงต่อปริมาณการค้าโลก ขณะที่ไทยเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเปิดต้องพึ่งพิงการส่งออกค่อนข้างมาก จึงทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ ปัญหาสงครามการค้าโลกที่ยังไม่มีแนวโน้มจะจบลงได้เริ่มส่งผลกระทบไปสู่การลงทุนของภาคเอกชนในบางอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกชะลอตัวลง การจ้างงานบางภาคอุตสาหกรรมก็ชะลอตัวลงเช่นกัน และส่งผลมาถึงรายได้ของแรงงานด้วย

อย่างไรก็ดี การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงเหลือเติบโตเพียง 2.8% แม้จะชะลอลงจากปีก่อน และเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพ แต่ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติแต่อย่างใด เนื่องจากเศรษฐกิจมีวัฎจักรขึ้นลงและขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย ซึ่งปัจจัยจากต่างประเทศถือว่าเป็นส่วนสำคัญ

"จากประมาณการเดิม เราเคยคาดว่าสถานการณ์การค้าโลกจะคลี่คลายลงในช่วงปลายปี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นว่าบรรยากาศในการกีดกันการค้าของโลกยังคงอยู่ในระดับสูง และส่งผลกระทบในวงกว้างมากขึ้น" นายวิรไท กล่าว

ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวว่า การปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือเติบโต 2.8% ได้รวมผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีไว้แล้ว ซึ่งจะเห็นว่า ธปท.ไม่ได้ปรับลดการบริโภคภายในประเทศลง แม้จะมีความเสี่ยงจากต่างประเทศที่เข้ามาส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชน แต่ในส่วนที่ ธปท.ปรับประมาณการลง คือ การลงทุนภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในหลายโครงการที่ล่าช้าไปกว่าที่คาดไว้

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศช่วงปลายปี "ชิม ช้อป ใช้" ที่รัฐบาลออกมาล่าสุดจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนให้เพิ่มขึ้นหรือช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้มากน้อยเพียงใดนั้น คงต้องใช้เวลาประเมินผลอีกสักระยะ

นายวิรไท ยังกล่าวถึงสถานการณ์เงินบาทว่า ที่ผ่านมา ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีความเป็นห่วงกรณีที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วกว่าประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง แต่การแข็งค่าของเงินบาทเป็นผลจากการที่ประเทศไทยยังคงเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง รวมทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังเป็นบวก และการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เป็นรายการใหญ่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

"ที่ผ่านมา เงินบาทยังได้รับแรงกดดันจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ยังเกิดดุลถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลต่อค่าเงินบาท หลายประเทศคู่แข่งของเรา เขาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แต่เราเกินดุลสูง แม้ส่งออกจะชะลอลง แต่การนำเข้าเราก็ชะลอลงแรงด้วย"นายวิรไท กล่าว

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวย้ำว่า ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าที่นอกจากจะมาจากปัจจัยเฉพาะในประเทศแล้ว ยังเป็นปัจจัยจากตลาดเงินตลาดทุนโลกที่ทำให้เงินบาทเปลี่ยนแปลงและมีความผันผวนด้วยเช่นกัน เช่น ความกังวลของนักลงทุนต่อสถานการณ์ในตะวันออกกลาง, การเมืองในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งมีผลทำให้บางสกุลเงินแข็งค่าและบางสกุลอ่อนค่า หรือเปลี่ยนทิศทางได้

"ปัจจัยสำคัญ ไม่ได้มาจากปัจจัยในประเทศหรือปัจจัยที่เราควบคุมได้ แต่ส่วนใหญ่จะมาจากปัจจัยในระบบตลาดเงิน ตลาดทุนโลก" นายวิรไท กล่าว

ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางของหลายประเทศมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจะเป็นแรงกดดันเงินบาทเพิ่มอีกหรือไม่นั้น ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ต้องพิจารณาให้ลึกซึ้งมากกว่านั้น เพราะอาจจะไม่ได้มีความสัมพันธ์โดยตรงขนาดนั้น จะเห็นได้ว่าก่อนที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ลดอัตราดอกเบี้ยลง แต่ yield curve ในยุโรปกลับสูงขึ้น หรือล่าสุดที่เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเล็กน้อย ทั้งๆ ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกรอบ

"วันนี้จะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรของไทยได้ปรับลดลงมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากที่เราลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปล่วงหน้าตั้งแต่รอบที่แล้ว เพราะเราเห็นว่าเศรษฐกิจจะชะลอลงตั้งแต่เดือนที่แล้ว เราจึงตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปก่อนที่จะมีการประกาศประมาณการเศรษฐกิจใหม่ yield curve ของพันธบัตรไทยทั้งหมดก็ลดลงมาก...ต้องติดตามพลวัตรของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด เพราะแต่ละช่วงก็มีปัจจัยแตกต่างกัน ไม่ใช่เพียงแค่การปรับขึ้นหรือปรับลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของต่างประเทศแล้วจะมากระทบกับเรา มันมีหลายปัจจัย"นายวิรไท กล่าว

พร้อมมองว่า ขณะนี้การเก็งกำไรค่าเงินบาทมีแนวโน้มลดลง โดยจะเห็นได้จากนักลงทุนที่มาลงทุนในตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ หรือที่นำเงินเข้ามาพักในไทยช่วงสั้นๆ มีแนวโน้มลดลง ซึ่งอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรของไทยลดต่ำลงจนใกล้เคียงกับพันธบัตรของสหรัฐ จึงทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่เงินบาทแข็งคามาก ควรเร่งให้เกิดการลงทุนในประเทศมากขึ้น เพราะจะเป็นโอกาสที่ดีในการนำเข้าสินค้าทุนต่างๆ ไม่ว่าสินค้าทุนที่มีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีสูง สินค้าที่เกี่ยวกับดิจิทัล เป็นต้น

ผู้ว่าการ ธปท.ยังเชื่อว่า นโยบายการเงินของไทยที่ยึดหลัก Data Dependent นั้น เป็นการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจล่วงหน้าอย่างใกล้ชิด หากเมื่อใดที่เห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่คาดการณ์ไว้ ก็พร้อมจะทบทวนนโยบายใหม่ และพร้อมใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ ที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ