ดีอีเอส เปิดตัวสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ประเดิมจัดสัมมนาเวทีแรกสัปดาห์หน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 30, 2019 13:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ตามที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 พ.ค.62 และจะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.63 นั้น พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้กำหนดให้แต่งตั้งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเตรียมความพร้อมการทำงานก่อนที่ พ.ร.บ.จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ ช่วงแรกในการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะมีนางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงดีอีเอส ทำหน้าที่เลขาธิการ ไปปจนกว่ากระบวนการสรรหาจะแล้วเสร็จ

นายพุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลถือเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องใหม่สำหรับหลายๆ องค์กร โดยในวันที่ 10 ต.ค.นี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะจัดให้มีการสัมมนา"PDPA –Privacy for All" ภายใต้แนวคิด "คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดูแล ทุกภาคส่วน ก้าวสู่เศรษฐกิจและสังคมที่มั่นคง ทันสมัย ทั่วถึงและเท่าทัน" ณ โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อเป็นการแนะนำกฎหมายและแผนการดำเนินงานของสำนักงานฯ แห่งนี้ ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกภาคส่วนถึงบทบาทและหน้าที่ของสำนักงานฯ

และที่สำคัญเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสำหรับหลากหลายภาคส่วนในการยกระดับองค์กรให้สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาข้อมูลในด้านต่างๆ ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งในงานสัมมนาครั้งนี้จะเชิญกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ผู้บริหารหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ปฏิบัติงาน ด้านการจัดการดูแลข้อมูลของหน่วยงาน และผู้แทนกลุ่ม/สมาคม/มูลนิธิ ตลอดจนสื่อมวลชน จำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 คน เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

นายพุทธิพงษ์ กล่าวถึงเหตุผลและความจำเป็นของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า เพื่อให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีประสิทธิภาพและเพื่อให้มีมาตรการเยียวยาเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจาก การถูกละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล มีการ กำหนดหลักเกณฑ์กลไก หรือมาตรการกำกับดูแลเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่เป็นหลักการทั่วไป

"ปัจจุบันมีการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก จนสร้างความเดือดร้อนรำคาญ หรือความเสียหายให้แก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้การเก็บรวบรวม การ ใช้และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล อันเป็นการล่วงละเมิดดังกล่าว สามารถกระทำได้โดยง่าย สะดวก และรวดเร็ว รวมทั้งก่อให้เกิด ความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวม"

นายพุทธิพงษ์ กล่าวย้ำด้วยว่า สิ่งที่คนไทยจะได้รับจากกฎหมายฉบับนี้ คือ 1.ป้องกันการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล 2. ปกป้องความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอันจะเกิดจากการล่วงละเมิดการสร้างความ เดือดร้อนรำคาญหรือสร้างความเสียหายใดๆ 3. ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้การเก็บรวบรวมข้อมูล การใช้ การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งกระทำได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็วในการก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวบุคคล ตลอดจน ต่อเศรษฐกิจโดยรวม และ 4. กฎหมายฉบับนี้ เป็นการสร้างกลไก หรือมาตรฐานการกำกับดูแลในการคุ้มครองข้อมูล ส่วนบุคคล

"ผมคาดหวังไว้ว่าหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้เพื่อยกระดับองค์กร ให้ สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และรับทราบถึงบทบาทหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครอง ข้อมูลส่วนบุคคลในระยะเริ่มแรก นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสามารถรวบรวม ข้อคิดเห็นและข้อห่วงกังวลของหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมไปเป็นข้อมูลสำหรับ จัดทำคู่มือและแนวทางปฏิบัติในแต่ละด้านอีกด้วย" นายพุทธิพงษ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ