ผู้ว่า ธปท. แนะภาครัฐดูแลส่งเสริมผู้ประกอบการแข่งขันอย่างเป็นธรรม-เท่าเทียม ลดผูกขาด สร้างระบบนิเวศน์การทำธุรกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 30, 2019 13:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน BOT Symposium 2019 ว่า กุญแจสำคัญที่สร้างแรงจูงใจให้สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของทรัพยากร ขีดจำกัดของเทคโนโลยี พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการสร้างสรรนวัตกรรมที่หลากหลาย คือ การแข่งขัน ซึ่งเป็นประเด็นหลักของการสัมมนาวิชาการของ ธปท.ในปีนี้

การแข่งขันเป็นกลไกสำคัญในการสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ การแข่งขันผลักดันให้ผู้ประกอบการรายกลางและรายใหม่ต้องพัฒนาความสามารถของตนให้สูงขึ้นกว่าเดิม นำไปสู่ต้นทุนการผลิตต่ำลง คุณภาพผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่มากขึ้น ซึ่งท้ายสุดแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคและสังคมโดยรวม

ความสำคัญของการแข่งขันต่อผลิตภาพของประเทศนี้ไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่เป็นหลักพื้นฐานสำคัญที่ถือกำเนิดควบคู่มากับวิชาเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ การแข่งขันเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างประโยชน์สูงสุด

ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า โดยธรรมชาติแล้วผู้ประกอบการมักไม่ค่อยชอบการแข่งขัน และลืมไปว่าการแข่งขันเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการในระยะยาวด้วย โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าระบบเศรษฐกิจในประเทศไม่มีการแข่งขันที่มากพอแล้ว ผู้ประกอบการอาจชะล่าใจ ไม่พัฒนาตนเองมากเท่าที่ควร ระบบนิเวศน์ของการทำธุรกิจจะเฉื่อยชาและมีต้นทุนสูง ผู้ประกอบการขาดทักษะในการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงวันหนึ่งที่ต้องเผชิญกับการแข่งขัน ซึ่งอาจมาจากภายนอกหรือจากรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่มาจากพัฒนาการของเทคโนโลยี ทำให้ผู้ประกอบการตั้งตัวไม่ทัน

นอกจากนี้ การแข่งขันยังช่วยสร้างแรงจูงใจให้แรงงานพัฒนาทักษะของตนเอง เพื่อเพิ่มโอกาสในการจ้างงานและมีรายได้สูงขึ้นกว่าเดิม รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการลงทุนในนวัตกรรมเพื่อเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดและเติบโตของธุรกิจด้วย ธุรกิจที่ไม่พัฒนาตัวเองให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและค่อยๆ ถูกคัดกรองให้ออกจากตลาดไปในที่สุด

นายวิรไท กล่าวว่า การแข่งขันที่ดีจะต้องเป็นการแข่งขันที่เปิดกว้าง เป็นธรรม และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายธุรกิจที่มีต้นทุนในการเข้าสู่ตลาดสูง ผู้ประกอบการที่อยู่รอดจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความได้เปรียบในด้านต่างๆ ขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยหรือรายใหม่จะไม่สามารถเข้ามาแข่งได้ ทำให้หลายครั้งการแข่งขันอาจจบลงด้วยการผูกขาดกินรวบในระยะยาว

ยิ่งไปกว่านั้น การแข่งขันในหลายภาคธุรกิจยังถูกจำกัดด้วยสิทธิพิเศษที่ผู้ประกอบการบางรายได้รับจากภาครัฐ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นรัฐวิสาหกิจ หลายครั้งการแข่งขันถูกจำกัดด้วยการใช้ผลประโยชน์จากอำนาจผูกขาดของผู้ประกอบการรายเดิมไปยับยั้งกฎเกณฑ์และกติกาที่จะทำให้ตนเองเสียประโยชน์ และกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ไม่ให้เข้ามาแข่งขัน ถูกจำกัดโดยการใช้อำนาจเหนือตลาดหลากหลายรูปแบบ ถูกจำกัดด้วยเครือข่ายความสัมพันธ์ที่มีอยู่เดิม หรือกฎเกณฑ์กติกาของภาครัฐที่ล้าสมัย สร้างภาระให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยและรายใหม่จนไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม

"การส่งเสริมการแข่งขันไม่ใช่เรื่องง่าย มีประเด็นต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน หลากหลายมิติ แต่ถ้าปล่อยปัญหาเหล่านี้ไว้ไม่แก้ไขอย่างจริงจังแล้ว จะสร้างผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์หลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สิน รายได้ และโอกาสที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของระบบทุนนิยมในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย นอกจากนี้จะบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ถ้าคนเก่งไม่ได้รับโอกาสให้เข้ามาแข่งขันอย่างเป็นธรรม" นายวิรไท ระบุ

ผู้ว่าฯธปท. กล่าวว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดและกระแสโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบัน กำลังทำให้ภูมิทัศน์ของการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนไป เกิดความท้าทายในมิติใหม่ที่ซับซ้อนมากขึ้น ในด้านหนึ่งนั้นเทคโนโลยีเป็นปัจจัยส่งเสริมการแข่งขัน ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการแบบใหม่ เกิดการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ธุรกิจหลายประเภทต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทั้งจากคู่แข่งรายเดิมและคู่แข่งประเภทใหม่ หลายธุรกิจกำลังปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว มีต้นทุนการผลิตและต้นทุนการเข้าสู่ตลาดลดลง ระบบเศรษฐกิจเชิงแบ่งปันและออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อและผู้ขายทั่วโลกเชื่อมต่อถึงกันได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้รวดเร็วและเริ่มทำธุรกิจเล็กๆ ของตนได้โดยไม่ต้องลงทุนสูง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมการแข่งขันทั้งสิ้น

ในทางกลับกัน เทคโนโลยีก็สามารถเป็นปัจจัยหน่วงรั้งการแข่งขันได้เช่นกัน ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงที่อาจต้องอาศัยความรู้ ทักษะ และเงินทุนสูง ทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อยเสียเปรียบรายใหญ่ หรือพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่สามารถสร้างเครือข่ายและใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้ธุรกิจที่ครอบครองข้อมูลมากได้เปรียบคู่แข่ง โดยเฉพาะคู่แข่งรายใหม่ที่ไม่มีฐานข้อมูล ในวันนี้จึงเห็นหลายธุรกิจที่พัฒนาออนไลน์แพลตฟอร์มจำนวนมากยอมขาดทุนอย่างมากในช่วงแรก เพื่อแลกกับการได้ครองส่วนแบ่งการตลาดซึ่งหมายถึงการครอบครองข้อมูลของลูกค้าจำนวนที่มากที่สุดไว้ก่อนด้วย

การแข่งขันที่เอื้อผู้ประกอบการรายใหญ่ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่เช่นนี้อาจนำไปสู่การผูกขาดในระยะยาว และสร้างความเหลื่อมล้ำในรูปแบบใหม่ๆ ได้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจึงเป็นเหมือนเหรียญสองด้าน โดยมีบทบาททั้งสนับสนุนและคุกคามการแข่งขันได้ในเวลาเดียวกัน ความท้าทายสำคัญที่เรากำลังเผชิญในช่วงเวลานี้คือการส่งเสริมการแข่งขันที่เปิดกว้าง เป็นธรรม และยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและการยกระดับผลิตภาพอย่างต่อเนื่องในอนาคตไปพร้อมกับการดูแลให้ผลประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจกระจายไปทั่วถึงได้อย่างไรในยุคที่โลกไร้พรมแดนและเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด

ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า ในฐานะผู้กำหนดนโยบายและผู้เขียนกฎกติกาการแข่งขัน ภาครัฐมีบทบาทสำคัญมากในการส่งเสริมและออกแบบการแข่งขันที่จะทำให้ผลิตภาพและศักยภาพของประเทศพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องมีอย่างน้อย 4 บทบาทที่สำคัญ คือ

1.ภาครัฐมีส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการแข่งขันให้เปิดกว้างและเป็นธรรม เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีศักยภาพเข้ามาแข่งขันและเติบโตในธุรกิจที่ผู้ประกอบการรายเดิมเป็นเจ้าตลาดได้ โดยภาครัฐต้องดูแลไม่ให้ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งเอาเปรียบผู้ประกอบการรายอื่น หรือใช้อำนาจเหนือตลาดกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ บังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดอย่างเข้มงวดและไม่เลือกปฏิบัติ นอกจากนี้นโยบายภาครัฐควรมีความเสมอภาค ไม่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งเป็นพิเศษ

2.การช่วยเหลือของภาครัฐให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถแข่งขันได้ในโลกใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต้องเน้นการช่วยเหลือที่เพิ่มผลิตภาพของผู้ประกอบการ มีระบบแรงจูงใจ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อลดภาระผู้ประกอบการในช่วงสั้น โดยไม่ได้ยึดโยงการพัฒนาผลิตภาพและการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ อาจเป็นเพียงการยื่นปัญหาในอนาคตให้ผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ประกอบการติดอยู่ในวงจรหนี้ที่สูงขึ้น ซึ่งไม่ได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่จะนำมาสู่ความยั่งยืนในระยะยาว

3.ท่ามกลางเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดและรูปแบบการทำธุรกิจที่ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว กฎระเบียบภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นสอดร้บกับสภาวะแวดล้อมการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีต้นทุนต่อหน่วยของการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์หลายอย่างสูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งต้นทุนทางตรงและต้นทุนแฝงที่มีอยู่มากในสังคมไทย กฎหมายที่ไม่จำเป็นควรถูกยกเลิก ข้อบังคับที่ล้าหลังควรได้รับการแก้ไขให้เท่าทันกับสภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน

4.การแข่งขันจะต้องไม่นำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ผู้บริโภคจะต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม กำไรที่เพิ่มขึ้นต้องมาจากการเพิ่มผลิตภาพ ไม่ใช่มาจากการผลักภาระต้นทุนไปให้ผู้บริโภคหรือมาจากการรวมตัวกันของผู้ประกอบการเพื่อสร้างอำนาจผูกขาด นอกจากนี้ ในโลกยุคดิจิทัล การคุ้มครองผู้บริโภคจะต้องรวมถึงการใช้ข้อมูลของผู้บริโภคด้วย ธุรกิจจะต้องไม่อาศัยศักยภาพในการประมวลผลข้อมูลที่สูงกว่าหาประโยชน์จากผู้บริโภคอย่างไม่เป็นธรรม

ผู้ว่าฯธปท. กล่าวว่า ภาคการเงินเป็นภาคธุรกิจหนึ่งที่นวัตกรรมและการแข่งขันได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจไปจากเดิมหลายด้าน นอกจากเทคโนโลยีจะช่วยลดต้นทุนและสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ แล้ว เทคโนโลยียังช่วยสร้าง platform เปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่จากทั้งในและนอกภาคการเงิน จากทั้งในและต่างประเทศ เข้ามาประกอบธุรกิจทางการเงินได้ง่ายขึ้นด้วย

"การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นเหรียญสองด้านที่อาจสนับสนุนและคุกคามการแข่งขันได้ในเวลาเดียวกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเหมาะสม เปิดกว้าง และเป็นธรรม" นายวิรไท กล่าว

พร้อมย้ำว่า การพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดนั้นจำเป็นต้องเพิ่มผลิตภาพของประเทศให้สูงขึ้น การแข่งขันที่เหมาะสม เปิดกว้าง และเป็นธรรม เป็นกุญแจสำคัญที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจไทยมีศักยภาพสูงขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีผลิตภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้อย่างยั่งยืน การแข่งขันที่เป็นธรรม ยังจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย ถ้าปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะด้านโอกาสในการแข่งขันไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว จะบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และคุณภาพชีวิตของคนไทยในระยะยาวด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ