(เพิ่มเติม) กพอ.ลั่นไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินพร้อมส่งมอบพื้นที่ 72% ภายใน 1 ปีหลังเซ็นสัญญา 15 ต.ค.,โครงการอู่ตะเภาคาดจบต.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 30, 2019 17:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ด EEC ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ รับทราบ การวางกำหนดการส่งมอบที่ดินในในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว คือ ส่งมอบที่ดิน 72% ภายใน 1 ปี หลังลงนามในสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้เอกชนเริ่มก่อสร้างโครงการและเห็นชอบให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดการรื้อย้ายท่อก๊าซยาว 12 กม. ยกเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง 16 ฟุต กระทรวงมหาดไทย เร่งรัดย้ายท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ 4 จุด ย้ายเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงยาว 14 กม. ยกเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง 39 จุด ย้ายท่อประปาขนาดใหญ่ยาว 2 กม.

และกระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ใช้สิทธิ์เร่งรัดให้ย้ายท่อน้ำมันของบริษัทเอกชน ระยะทาง 44 กม. รวมทั้งเร่งรัด พรฎ.เวนคืนที่ดิน พ.ศ.... ซึ่งจะทำให้การส่งมอบพื้นที่ในโครงการเป็นไปตามแผนงาน และโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จได้ตามเป้าหมาย

"ทาง รฟท. ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการส่งมอบพื้นที่ในการรับผิดชอบของการ รฟท. แต่เป็นห่วงพื้นที่ของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ประชุมกพอ. ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไปจัดทำแผนร่วมกับการรถไฟให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อให้ได้ข้อสรุป รวมทั้งให้พิจารณาเรื่องงบประมาณในการดำเนินการ หลังจากนั้นเตรียมพูดคุยกับภาคเอกชนให้รับทราบถึงการส่งมอบพื้นที่ให้เรียบร้อยก่อนวันที่ 15 ต.ค.นี้" นายคณิศ กล่าว

ด้านนายวรวุฒิ มาลา รักษาการ ผู้ว่าการรฟท. กล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้ส่งหนังสือกลับไปให้กลุ่มซีพีและพันธมิตร (CPH) เอกชนที่ได้ร่วมลงทุน โดยแจ้งถึงการส่งมอบพื้นที่ได้ทันที 72% หลังเซ็นสัญญาร่วมทุน เพราะเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ไม่ติดกับที่ดินที่ถูกบุกรุก พร้อมกำหนดให้กลุ่มซีพีร่วมลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการนี้ ในวันที่ 15 ต.ค.62

นายวรวุฒิ ยังกล่าวว่า ยืนยันว่าการส่งมอบที่ดิน จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายใน 1 ปี ที่กำหนดไว้ นอกจากแก้ปัญหาพื้นที่ถูกบุกรุกแล้ว ยังมีสาธารณูปโภคใต้ดิน ที่ต้องประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาดำเนินการจัดทำแผนรื้อถอนร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง กทม. ภาคเอกชน โดยภายในสัปดาห์นี้จะเชิญมาหารือทั้งหมด เพื่อกำหนดแผน และไทม์ไลน์ทั้งหมด ซึ่งได้นำเสนอให้ทาง กพอ.รับทราบแล้ว พร้อมทั้งจะมีการเร่งรัดตัวร่าง พรฎ.เวนคืนที่ดิน

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพอ.รับทราบศาลปกครองมีมติให้คำพิพากษาให้ถอนฟ้องคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F ที่ให้กิจการร่วมค้าเอ็นซีพีไม่ผ่านการประเมินในซองที่ 2 และให้การเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว มีผลตั้งแต่วันที่ คณะกรรมการคัดเลือกฯมีคำสั่ง และให้มีผลตอ่ไปจนกว่ามีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด รวมทั้งให้ยกฟ้อง กพอ.ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯจะเร่งดำเนินการต่อไป

ส่วนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ประชุมกพอ.รับทราบว่า ศาลปกครองเห็นตามคณะกรรมการคัดเลือกและมติอุทธรณ์ของกพอ.ไม่รับเอกสาร 2 กล่อง (กล่องข้อเสนอแผนธุรกิจ และกล่องข้อเสนอผลตอบแทนทางการเงิน)ของกลุ่มกิจการร่วมค้าธนโฮลดิ้ง ซึ่งบริษัท ฯ ได้ไปยื่นคำร้องกับศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการคัดเลือกจะดำเนินการต่อโดยกำหนดพิจารณาเอกสารทางเทคนิคให้จบภายในวันที่ 9 ตุลาคม 2562 และเปิดของการเงิน เพื่อหาผู้เข้เจจาสัญญชึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2562

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพอ.เห็นชอบระบบการใช้บริการเบ็ดเสร็จ EEC-OSS โดยสกพอ.ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางบริการรับคำขอ อนุมัติ อนุญาต และประสานหน่วยงานเจ้าของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้ง 8 ฉบับกำหนดในมาตรา 43 ของ พ.ร.บ.EEC จาก 6 หน่วยงานได้แก่กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอนามัย กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากรมที่ดิน และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

การบริการแบบเบ็ดเสร็จ ภายหลังปรับปรุงแล้วจะลดเวลาและขั้นตอนได้ถึง 50% โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการเพียง 78 วัน จากเดิม 158 วัน ใช้เอกสารประกอบเพียง 42 รายการ จากเดิม 60 รายการ

โดยมีหลักการ 1.) ลดระยะเวลาขั้นตอนต่างๆได้แก่การพิจารณาเอกสารการลงพื้นที่และการลงนาม 2) การยกเลิกขั้นตอนบางขั้นตอนในการพิจาณาเอกสาร และยุบรวมใบอนุญาตที่คล้ายคลึงกัน และ 3.) ร่วมกับหน่วยงานรัฐในการเชื่อมโยงข้อมูล อำนวยความสะดวกในการกรอกคำร้อง และลดเอกสารที่ต้องใช้ในการขอใบอนุญาต

ส่วนแนวทางการพัฒนาบุคคลากรใน EEC สกพอ. ได้ประมาณการความต้องการบุคลากรใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 475,00 ตำแหน่ง ใน 5 ปีในขณะที่บีโอไอ แจ้งความต้องการ 16,57 ตำแหน่งของผู้ลงทุนที่ขอเข้ามาลงทุนในปีที่ผ่านมาระยะเร่งด่วน 20,000 คนในปี งบประมาณ 2563

สำหรับแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและแผนผังการพัฒนโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ...นั้น กพอ. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2562 ในการประชุมฯครั้งนี้กรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดทำ รายการประกอบแผนผังท้าย (ร่าง) ประกาศ 5 รายการ ได้แก่

(1) รายการประกอบแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน

(2) รายการประกอบแผนผังระบบสาธารณูปโภคระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะ

(3) รายการประกอบแผนผังะบบคมนาคมและขนส่ง

(4) รายการประกอบแผนผังระบบบริหารจัดการน้ำ

(5) รายการประกอบแผนผังระบบป้องกันอุบัติภัย

อย่างก็ตาม การจัดทำแผนผัง EEC นอกจากจะมีการรับฟังความเห็นจากผู้นำในจังหวัดผู้แทนในระดับจังหวัดอำเภอท้องถิ่นและชุมชนกลุ่มฉพาะต่างๆจำนวน 40 ครั้งโดยประชุมแบบทางการ 25 ครั้งและไม่เป็นทางการ 15 ครั้ง ซึ่ง สกพอ. และ กรมโยธาธิการและผังเมือง(ยผ.)ได้ร่วมกันชี้แจงทำควมเข้าใจกับกลุ่มเครือข่ายเพื่อนตะวันออกฯ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 62 ได้มีกลุ่มชาวบ้านตำบลเขาดิน อำเภอปางปะกงจ.ฉะเชิงเทราและ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบรีมากกว่า 60 คนเดินทางมายื่นหนังสือนำเรียนนายกรัฐมนตรีที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้เดินหน้าโครงการ EEC และขอให้เร่งรัดประกาศใช้แผนผัง EEC โดยเร็วเนื่องจากเป็นความต้องการของคนในพื้นที่ที่แท้จริงโดยในการเรียกร้องให้เดินหน้าโครงการ EEC ครั้งนี้ได้มีประชาชนในพื้นที่ร่วมลงชื่อจำนวนมากกว่า 500 คน

โดยที่ประชุมกพอ. เห็นชอบรายการประกอบแผนผังท้าย(ร่าง) ประกาศกพอ. เรื่องแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .. ตามที่เสนอ และ มอบหมายสกพอ.นำเสนอครม.พิจารณาอนุมัติ ต่อไป

รวมทั้ง ที่ประชุม กพอ. ระบุว่า จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 3ก.ย. 2562ซึ่งได้รับทราบ(ร่าง)ระเบียบคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกว่าด้วยกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกพ.ศ. ...ตามที่สกพอ.เสนอและให้แก้ไขปรับปรุงการออกร่าง ระเบียบฯ ดังกล่าวตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา(สคก.)และรับความเห็นจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสศช.)สำนักงบประมาณ(สงป)และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ทั้งนี้สกพอ. จะได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุง (ร่างระบียบฯดังกล่าวตามความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ สำหรับ เงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการตามวัตถุประสงค์ของกองทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ