ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลกระทบ PM2.5 จากค่าเสียโอกาสด้านสุขภาพช่วง 1-2 สัปดาห์ คิดเป็นมูลค่า 700-800 ลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 30, 2019 18:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานที่ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้กลับมาเยือนอีกครั้ง ซึ่งเกิดจากสภาพภูมิอากาศนิ่งและจมตัว อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าปัญหาฝุ่นละอองที่กลับมาครั้งนี้จะมีความรุนแรงขึ้นกว่าที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2562 ซึ่งสะท้อนว่าปริมาณฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีอยู่สูง และยังไม่ได้ลดระดับลงจากช่วงต้นปี

สำหรับปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานที่เคยเกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เมื่อช่วงต้นปี 2562 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงกระทบต่อสุขภาพของประชาชนบางกลุ่ม ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันด้วยการหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ ปัญหาดังกล่าวยังสร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจในมิติต่างๆ อาทิ ผลต่อเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว โดยประชาชนอาจปรับแผนและชะลอการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ผลจากค่าเสียโอกาสในการที่ประชาชนต้องมีภาระจ่ายในด้านสุขภาพ และผลต่อการที่ภาครัฐจะต้องนำงบประมาณมาใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองอย่างการปฏิบัติการฝนหลวง เป็นต้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมิน ผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ คือ

ผลกระทบในระยะสั้น ภายใต้สถานการณ์ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานที่คาดว่าน่าจะอยู่ในกรอบระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ (ระหว่างวันที่ 28 กันยายน - วันที่ 12 ตุลาคม 2562) ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดผลกระทบจากค่าเสียโอกาสจากประเด็นในเรื่องของสุขภาพ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 700-800 ล้านบาท ขณะที่ผลต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องยังต้องติดตาม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองที่กลับมาอีกครั้ง น่าจะส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของกลุ่มผู้ป่วยโรคภูมิแพ้/ระบบทางเดินหายใจ และประชาชนบางกลุ่มที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ก็เกิดอาการเจ็บป่วย ทำให้ต้องไปพบแพทย์หรือเข้ารับการรักษาพยาบาล รวมไปถึงการที่ผู้บริโภคจะต้องซื้อหน้ากากอนามัยมาสวมใส่ เพื่อดูแลป้องกันสุขภาพและการซื้อสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลสุขภาพ

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินค่าเสียโอกาสจากประเด็นด้านสุขภาพ ทั้งการรักษาและการป้องกันในเบื้องต้น (กรอบระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์) คิดเป็นเม็ดเงินราว 700-800 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐานที่พิจารณาจากค่าสถิติดัชนีคุณภาพอากาศของ AQICN.ORG ที่บ่งชี้ว่าคุณภาพอากาศในเดือนตุลาคมน่าจะยังไม่ถึงขั้นเป็นปัญหาที่รุนแรง แต่ปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานอาจจะกลับมาอีกครั้งในช่วงเดือนธันวาคม ต่อเนื่องถึงช่วงต้นปี

ขณะที่ผลต่อภาคการท่องเที่ยว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า น่าจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวที่ชัดเจนนัก โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงนี้ ส่วนใหญ่จะมีการวางแผนล่วงหน้า แต่อาจจะมีการปรับกิจกรรมการท่องเที่ยวระหว่างวัน

ทั้งนี้ การประเมินผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานต่อเศรษฐกิจ เป็นการประเมินตัวเลขเบื้องต้นในกรอบระยะเวลา 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะติดตามสถานการณ์และประเมินผลกระทบตามพัฒนาการของปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานต่อไป

ในกรณีที่สถานการณ์ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานกว่า 2 สัปดาห์ที่ประเมินเบื้องต้น หรือกลับรุนแรงขึ้นมาอีกครั้ง นอกจากขนาดของผลกระทบด้านสุขภาพที่จะเพิ่มขึ้นแล้ว ก็อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบในส่วนของกิจกรรมเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ตามมา อาทิ ผลต่อภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกปี จะเป็นช่วงของฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวอาจมีการปรับเปลี่ยนจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงกิจกรรมเศรษฐกิจอื่นๆ อันเนื่องมาจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน เช่น ธุรกิจที่อยู่ในที่โล่งแจ้งอย่างร้านอาหารและสวนอาหาร เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเด็นเรื่องคุณภาพอากาศหรือปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปยังหลายๆ ภาคส่วน ทั้งด้านสุขภาพของประชาชนในประเทศระยะยาว ผลต่อเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการท่องเที่ยว งบประมาณภาครัฐที่ต้องมาใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหา และค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพของประชาชน เป็นต้น

ทั้งนี้ ปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานกลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและเกิดขึ้นทุกปี อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นและการจัดการสาเหตุของปัญหาฝุ่นละอองในประเทศไทยให้ได้อย่างยั่งยืน หน่วยงานภาครัฐควรมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม อย่างมาตรการเฉพาะหน้าที่ควรมีความต่อเนื่อง อาทิ การตรวจจับควันดำ การตรวจสอบการปล่อยมลพิษโรงงานอุตสาหกรรม และการห้ามเผาในที่โล่งแจ้ง เป็นต้น รวมถึงมาตรการระยะกลางและยาวตามที่รัฐบาลได้วางแผนไว้ นอกจากนี้ การปลูกฝังพฤติกรรมที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ในระยะยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ