ไทยแอร์เอเชียหารือคมนาคมเสนอทดลองใช้ระบบเช็คอินด้วยใบหน้า อำนวยความสะดวกผู้โดยสาร

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 3, 2019 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการเข้าพบของผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชียว่า ได้มีการหารือกันใน 5 ประเด็นที่สำคัญ โดยทางสายการบินได้นำเสนอแนวคิดการนำนวัตกรรมระบบเช็คอินด้วยใบหน้า (FACEs Recognition) มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วกับผู้โดยสาร ซึ่งปัจจุบัน สายการบินแอร์เอเชียให้บริการเส้นทางบินใน 20 ประเทศ โดยได้มีการใช้ทดลองและใช้ที่ประเทศมาเลเซียแล้ว ดังนั้นจึงต้องการจะทดลองใช้กับประเทศไทยด้วย

สำหรับระบบเช็คอินด้วยใบหน้า มีเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องขออนุญาต เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สำนักทะเบียน กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่เกี่ยวโยงถึงมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ดังนั้นจะต้องศึกษาการพัฒนาและการให้บริการที่ทันสมัยควบคู่ไปกับการป้องกันปัญหาอาชญากรรมและข้อมูลส่วนบุคคลด้วย

รมช.คมนาคม กล่าวว่า ได้ตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางดังกล่าว โดยมีนายสมเกียรติ มณีสถิตย์ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เป็นหัวหน้าคณะทำงาน เพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งความมั่นคงและด้านการบิน ในการศึกษาผลดีผลเสียและให้ได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ปลอดภัยมากที่สุด โดยกำหนดเวลาภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ หากยังไม่แล้วเสร็จให้ขยายเวลาศึกษาได้ภายใน 15 วัน ซึ่ง จะให้ทำการทดสอบที่สนามบินบุรีรัมย์, สนามบินน่าน, สนามบินนครพนม และสนามบินร้อยเอ็ด

นอกจากนี้ สายการบินแอร์เอเชีย ได้เสนอให้เร่งขยายทางวิ่ง (Runway) ของสนามบินเบตงและสนามบินแม่สอด จาก 1,800 เมตร เป็น 2,100 เมตร เพื่อให้สามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเมืองรองของไทย โดยคาดว่าการขยายทางวิ่งสนามบินแม่สอดจะแล้วเสร็จในปี 2563 ส่วนสนามบินเบตงนั้นรองรับเครื่องบินใบพัด ซึ่ง ทย.มีแผนการศึกษาเปลี่ยนแปลงรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในปี 2564 และจะดำเนินการจัดซื้อที่ดิน 60 ไร่ วงเงิน 100 ล้านบาท และเตรียมจ้างสำรวจออกแบบ และก่อสร้างในปี 2564 คาดว่าจะใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังให้ปรับปรุงความแข็งแรงของทางขับ ทางวิ่ง และหลุมจอด เพื่อรองรับอากาศยานขนาด A320 Neo รวมถึงการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยด้านเกี่ยวกับอากาศยานชนนก ที่สร้างความเสียหายแก่อากาศยาน และการพิจารณาลดภาระต้นทุนด้านภาษีน้ำมันให้กับสายการบิน ซึ่งปี 2563 จะดำเนินการใน 7 แห่ง ได้แก่ น่าน, นครพนม, นราธิวาส, บุรีรัมย์, ระนอง, แม่ฮ่องสอนและเพชรบูรณ์ ส่วนในปี 2564 จะดำเนินการ 5 แห่ง ได้แก่ ตรัง, ร้อยเอ็ด, นครศรีธรรมราช, เลย และชุมพร

พร้อมกันนี้ ยังขอให้ดำเนินการเรื่องอากาศยานชนนก Bird Strike เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากนก โดยเฉพาะสนามบินที่มีแหล่งน้ำ ซึ่งทย.ใช้กระบวนการพื้นฐานในการป้องกันเพื่อลดความกังวลใจได้ ส่วนแผนในการจัดหาเครื่องมือ เนื่องจากมีมูลค่า 100 ล้านต่อลำ จึงต้องเข้ากระบวนการตั้งงบประมาณต่อไป

ด้านนายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) และสายการบินไทยแอร์เอเชีย (TAA) กล่าวว่า แต่ละปีสายการบินฯ มีผู้โดยสายประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งเคาน์เตอร์เช็คอินปกติใช้เวลา 90 วินาที ผู้โดยสารอาจจะไม่สะดวก ขณะที่ระบบเช็คอินด้วยใบหน้านั้น ผู้โดยสารจะใช้เวลาลดลงครึ่งหนึ่งเหลือไม่เกิน 45 วินาที อีกทั้งมีความปลอดภัย การยืนยันตัวบุคคลและประหยัดพื้นที่เช็คอินอีกด้วย ซึ่งสนามบินที่นำมาใช้ เช่น สนามบินชางฮี สิงคโปร์, สนามบินฮีทโธรว์ อังกฤษ และสนามบินบังกาลอร์ อินเดีย

อย่างไรก็ดี ยังเป็นการนำเสนอแนวคิดเท่านั้น ซึ่งต้องศึกษาและหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ซึ่ง รมช.คมนาคมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นแล้ว จากนั้นเมื่อได้ผลสรุปการศึกษาข้อดีข้อเสียและได้รับอนุญาตแล้ว จะเริ่มทดลองใช้ที่สนามบินอุดรธานี, สนามบินอุบลราชธานี และสนามบินบุรีรัมย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ