(เพิ่มเติม) รมว.พลังงาน เตรียมออกแพ็คเกจหนุนใช้รถ EV-แบตเตอรี่ภายในสิ้นปีนี้ , โออาร์เร่งทำตามแผนตอบโจทย์นโยบายรัฐก่อนเข้าตลาดหุ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 8, 2019 15:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิเผยว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการเตรียมแผนส่งเสริมเพื่อให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 โดยจะมีความชัดเจนในปลายปี 62

มาตรการส่งเสริมจะให้มีความครอบคลุม โดยเฉพาะในส่วนของแบตเตอรี่ ที่เป็นหัวใจหลักของรถยนต์อีวี เพื่อให้นำไปสู่การเป็นฐานผลิตแบตเตอรี่ของภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการส่งเสริมทุกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ทั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า หัวชาร์จไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า การใช้ไฟฟ้าในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น คาดว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในช่วง 5 ปีข้างหน้านับจากปี 63

"การส่งเสริมที่มียุทธศาสตร์ที่ถูกต้องถึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอีวีของประเทศไทยไปได้ เราจะออกมาตรการต่าง ๆ ที่จะดำเนินการเรื่องนี้ภายในสิ่นปีนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการซึ่งสิ้นปีนี้จะมีมาตรการส่งเสริมที่ชัดเจนออกมาว่าจะส่งเสริมอะไร อย่างไร เราเห็นโครงแล้วว่าจะไปทางไหน ทิศทางอย่างไร เรากำลังร่วมกันศึกษาทั้งค่ายรถยนต์ ผู้รู้ในการเปลี่ยนผ่าน การส่งสัญญาณกระทรวงพลังงานมีความสำคัญเพราะจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่ถูกต้องของประเทศไทย มีความรอบคอบนำไปสู่ฐานการผลิตแบตเตอรี่ของอาเซียน เพราะหัวใจของการเปลี่ยนผ่านอีวีนั้นคือแบตเตอรี่ที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป"นายสนธิรัตน์ กล่าว

รมว.พลังงาน กล่าวว่า การส่งเสริมและการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า จะกระทบต่อแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ของประเทศด้วยเพราะมีความเชื่อมโยงกัน การพิจารณาเรื่องต่าง ๆ จึงต้องให้เกิดการรอบคอบ

สำหรับการส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นหนึ่งในแนวทางที่กระทรวงพลังงานจะนำมาเพื่อใช้รองรับการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 นอกเหนือจากการส่งเสริมให้เกิดการใช้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมไบโอดีเซล (B100) ในสัดส่วน 10% หรือ B10 ซึ่งจะกลายเป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานตั้งแต่ต้นปี 63 ทดแทน B7 ในปัจจุบัน ซึ่งในเดือนต.ค.นี้จะออกแคมเปญใหญ่เพื่อส่งเสริมการใช้ B10 โดยไม่มีการให้ส่วนลดเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีราคาต่ำกว่า B7 ในอัตรา 2 บาท/ลิตร โดยมีเป้าหมายการใช้ B10 เพิ่มเป็น 57 ล้านลิตร/วันในปลายไตรมาส 1/63 จากการใช้ที่ยังไม่มากนักในขณะนี้

อย่างไรก็ตามกระทรวงยังคงนโยบายสนับสนุนการใช้ B20 สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ต่อเนื่อง แต่ที่ไม่สามารถผลักดันการใช้ B20 ได้สำหรับรถยนต์ทั่วไป เนื่องจากมีข้อจำกัดของปริมาณรถที่เข้าสู่โครงการซึ่งมีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับ B10 ที่มีปริมาณรถคิดเป็น 50% ของรถที่ใช้น้ำมันดีเซลทั้งหมด

ขณะเดียวกันก็เตรียมออกแคมเปญส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ในเดือนพ.ย. เพื่อส่งเสริมการใช้เอทานอลเป็นส่วนผสมในน้ำมันเบนซินมากขึ้น ก็จะช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ด้วยเช่นกัน และยังมีส่วนช่วยเกษตรกรจากการส่งเสริมให้เกิดการใช้พืชพลังงานเพิ่มมากขึ้น พร้อมกันนี้ก็ศึกษาการลดประเภทน้ำมันกลุ่มเบนซินลงด้วย ซึ่งจะมีความชัดเจนในช่วงเดือนพ.ย.ด้วยเช่นกัน

รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า ในวันพรุ่งนี้ (9 ต.ค.) จะจัดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางในการวางหลักเกณฑ์การจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน เบื้องต้นจะมีเอกชนที่ดำเนินการอยู่แล้ว และผู้สนใจที่จะเข้าร่วมดำเนินการ รวมถึงหน่วยงานกำกับของภาครัฐ และองค์กรภาคประชาสังคมเข้าร่วมด้วย

"พรุ่งนี้เราจะระดมสมองครั้งใหญ่ที่เรียกว่าหนึ่งชุมชน หนึ่งพลังงานทางเลือก คือโรงไฟฟ้าชุมชน เราจะเชิญ stakeholder ของวงการนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชนที่มีประสบการณ์จริงในการทำโรงไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ ทั้งไบโอแมส ไบโอแก๊ส ผู้เชี่ยวชาญด้านหญ้าเนเปียร์ ภาคประชาสังคมที่จะเป็นกลไกหลักของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อนำแนวคิดรายละเอียดมาขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนต่อไปโดยเร็ว และโครงการนี้ก็จะเป็นอีก 1 โครงการที่จะช่วยลด PM2.5 เพราะโครงการนี้จะเป็นการนำเอาซังข้าวโพด ฟางข้าวที่ชาวบ้านนำไปเผาเป็นหลัก เอามาเป็นวัตถุดิบในการผลิตโรงไฟฟ้าชุมชน มาตรการเหล่านี้คือมาตรการ 4 ด้านที่จะขับเคลื่อนและรณรงค์เพื่อแก้ปัญหา PM2.5 ควบคู่กับนโยบายของกระทรวงพลังงานที่มีอยู่แล้ว"นายสนธิรัตน์ กล่าว

สำหรับเบื้องต้นพบว่าประเทศไทยมีศักยภาพตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนใน 6 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงจ.ขอนแก่นด้วย ซึ่งมีทั้งในส่วนที่เป็นโรงไฟฟ้าเดิม และโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะอาจจะนำไปสู่ข้อครหาหากมีการเลือกใช้โครงการเก่า แต่ทุกโครงการที่เข้าร่วมจะต้องมีภาคชุมชนเข้าไปร่วมถือหุ้น ส่วนจะเป็นการถือหุ้นในรูปแบบใดยังอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้ากรณีที่บมจ.ปตท.(PTT) จะนำบมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) หรือโออาร์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น เบื้องต้นโออาร์ได้ส่งแผนเข้ามา ก็ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมไปบ้างแล้ว และโออาร์อยู่ระหว่างดำเนินการตอบโจทย์เรื่องการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน การสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก และความเข้มแข็งที่จะเป็นผู้นำในต่างประเทศ ซึ่งยังมีเวลาดำเนินการก่อนจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

"กระบวนการเข้าตลาดของโออาร์มีความชัดเจน ซึ่งตอนนี้จะมีคลิป"ไทยเด็ด"ออกมา ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อแนะนำบทบาทของโออาร์ที่จะเป็นจุดสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในอนาคต สองจะต้องขยายธุรกิจโออาร์ในต่างประเทศ โดยเน้นการเติบโตในเรื่องต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญ ที่ขณะนี้ปตท.กำลังดำเนินการเรื่องนี้ในการขยายลงทุนที่กัมพูชา และอันที่สามยังต้องดำรงเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานเอาไว้ ซึ่งกรณีของคลิปก็เป็นการตอบสนองนโยบายของทิศทางโออาร์ โดยหลักการถือว่าถ้าโออาร์ดำเนินการตามข้อแนะนำทั้งสามด้าน ก็เข้าสู่กระบวนการได้ ซึ่งตอนนี้โออาร์กำลังดำเนินทั้งสามด้าน การจะเข้าตลาดหรือไม่การดำเนินการทั้งสามด้านต้องชัดเจน"

ส่วนกรณีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากตลาดจร (spot) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นั้น เบื้องต้นได้รับทราบว่ากฟผ.ได้เปิดประมูลแล้วเพื่อทดลองนำเข้า 2 ล็อต ล็อตละ 7 หมื่นตัน รวม 1.4 แสนตัน โดยมีผู้สนใจกว่า 40 ราย ซึ่งเมื่อเปิดประมูลแล้วเสร็จก็จะนำเสนอต่อคณะกรรมการกฟผ. ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการแต่งตั้งประธานกรรรมการกฟผ. ที่คาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นคณะกรรมการกฟผ.ก็จะพิจารณาเรื่องการนำเข้า LNG ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำเข้าได้ภายในปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ